จะเห็นว่าช่วงนี้ฝนตกบ่อยซะเหลือเกิน ทำให้หลายๆ พื้นที่ในประเทศไทยตอนนี้ ประสบภัยน้ำท่วมกัน ยิ่งบ้านไหนที่มีเด็กๆ ก็ต้องยิ่งต้องเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น ทั้งการรับมือกับโรคภัย และอันตรายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น วันนี้ Parents One เลยมีวิธีดูแลเด็กๆ ในช่วงที่น้ำท่วมมาฝากกันค่ะ ไปดูกันเลย
ดูแลเรื่องโรคภัย
1. ระวังโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร : เป็นโรคที่มักจะมากับน้ำท่วม มักเกิดจากการที่เด็กทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ นำไปสู่การเกิดโรคอุจจาระร่วงหรืออหิวาตกโรคได้
- สำหรับเด็กเล็ก : หากเด็กๆ ยังกินนมแม่อยู่ ก็ขอให้กินต่อไป เพราะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด แต่หากกินนมผสม ควรชงด้วยน้ำต้มสุกสะอาด และไม่ล้างภาชนะหรือของใช้ต่างๆ ด้วยน้ำสกปรก
วิธีป้องกัน
- ควรให้เด็กๆ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งโดยเฉพาะก่อนและหลังทานอาหาร หรือจากการเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ดื่มน้ำที่สะอาด
- หากลูกท้องเสีย ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ORS หากอาการยังไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
2. ระวังภาวะขาดน้ำในเด็ก : เกิดจากการเสียเหงื่อเนื่องจากความเหนื่อยในการเดินลุยน้ำ หรือโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร โดยผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการง่ายๆ ได้ก็คือ เด็กมีอาการซึม หงุดหงิด ร้องกวน หิวน้ำบ่อย ผิวแห้ง ตัวร้อน ปัสสาวะน้อย ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้นได้
วิธีป้องกัน
ให้ลูกดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการร่างกาย ซึ่งเด็กแต่ละวัยควรได้รับน้ำต่อวันดังนี้
- อายุ 1-3 ปี 960 มล. (4 แก้ว)
- อายุ 4-8 ปี 1,200 มล. (5 แก้ว)
- อายุ 9-13 ปี เด็กผู้ชาย 1,920 มล. (8 แก้ว) / เด็กผู้หญิง 1,680 มล. (7 แก้ว)
- อายุ 14-18 ปี เด็กผู้ชาย 2,640 มล. (11 แก้ว) / เด็กผู้หญิง 1,920 มล. (8 แก้ว)
หากเด็กมีอาการขาดน้ำ ให้เด็กดื่มน้ำและสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ORS หรืออาจให้น้ำผลไม้และนมก็ได้ (แต่น้ำเปล่าจะดีที่สุด) ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์
3. ระวังยุงกัดลูก : เพราะน้ำท่วมขัง ทำให้เด็กถูกยุงกัดและเกิดโรคได้ ไม่ว่าจะเป็น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย
วิธีป้องกัน
- นอนในมุ้ง
- ทายากันยุง
- หากถูกยุงกัดให้ล้างทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัด และทายาแก้คัน
- พยายามไม่ให้ลูกเกา เพราะหากเกิดแผลจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
4. สอนให้ลูกกำจัดของเสียให้ถูกวิธี : เรียกได้ว่าหากเกิดน้ำท่วมแล้วการเข้าห้องน้ำเพื่อทำธุระต่างๆ อาจทำให้เกิดความลำบาก แต่ถึงยังไงก็ไม่ควรให้เด็กขับถ่ายลงในน้ำ เพราะอาจทำให้น้ำเน่าเสียแล้ว ยังเป็นการแพร่เชื้อโรคได้
วิธีป้องกัน
- ทำส้วมฉุกเฉิน เช่น การทำกล่องกระดาษ หรือใช้ถุงดำหรือพลาสติกในการรองรับของเสียของร่างกาย
- มัดปากถุงและนำไปทิ้งที่เหมาะสม ไม่ทิ้งลงน้ำ
5. สอนให้ลูกทำความสะอาดแผล : หากเด็กมีบาดแผลจากน้ำท่วม ควรทำความสะอาดแผลให้สะอาด โดยใช้แอลกอฮอล์เช็ด และใส่ยาฆ่าเชื้อ หากเป็นแผลบริเวณเท้าควรใส่รองเท้าบูททุกครั้งที่ลุยน้ำ
ดูแลเรื่องความปลอดภัย
1. ระวังไฟดูด
เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในช่วงน้ำท่วม วิธีป้องกันที่พ่อแม่ควรทำ ก็คือ
- สอนให้เด็กรู้ถึงอันตรายของไฟฟ้า
- ควรใช้ที่ครอบปลั๊กไฟเพื่อป้องกันเด็กใช้นิ้วมือแหย่
- ควรวางเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พ้นมือเด็ก
- หากน้ำท่วมเข้ามาในบ้าน ควรตัดไฟทันที
- ไม่แตะเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียก หรือยืนบนพื้นเปียก
2. สวมเสื้อชูชีพก่อนลุยน้ำ
ไม่ควรปล่อยให้ลูกลงเล่นน้ำหรืออยู่ในบริเวณที่พลัดตกน้ำได้ หากต้องลุยน้ำหรือโดยสารทางเรือ ต้องใส่เสื้อชูชีพให้เด็กทุกครั้งไม่ว่าน้ำจะลึกหรือตื้น และเลือกขนาดเสื้อให้เหมาะกับสำหรับตัวเด็ก
3. ระวังสัตว์อันตราย
เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่ากลัวและต้องระวัง เพราะน้ำท่วมสัตว์อันตรายเหล่านี้อาจหลุดรอดมากับน้ำท่วมได้ด้วย เช่น ตะขาบ งู แมงป่อง หนู ปลิง พยาธิ จระเข้
เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรสอดส่องตามมุมอับภายในบ้านต่างๆ เพื่อตรวจดู และเตรียมเบอร์ของหน่วยงานที่สามารถช่วยจับสัตว์ร้ายได้
ที่สำคัญหากถูกสัตว์มีพิษกัด ห้ามใช้ปากดูดเด็ดขาด ควรใช้น้ำสะอาดหรือน้ำด่างทับทิมล้างแผล และใช้ผ้าสะอาดรัดเหนือแผลให้แน่น และนำส่งโรงพยาบาล
ดูแลเรื่องจิตใจลูก
- พ่อแม่เครียดได้ แต่ควรจัดการกับความเครียดของตน หลีกเลี่ยงการติดตามข่าวเกี่ยวกับน้ำท่วมในแต่ละวัน
- พูดคุยกับคนในครอบครัว หากิจกรรมทำ เช่น อ่านนิทาน ร้องเพลง ออกกำลังกายร่วมกัน
- พ่อแม่ต้องมีสติ เพราะทุกความพร้อมของพ่อแม่ คือความปลอดภัยของลูก
ขอบคุณข้อมูลจาก : bumrungrad