จากกรณีที่มีการส่งเสริมการเล่นเกมเป็นกีฬา หรือ eSports อาจทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดว่าการส่งเสริมให้ลูกเล่นเกมจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งจากคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ตั้งแต่ยังเล็กเป็นสิ่งที่ดี แต่ที่จริงพฤติกรรมเหล่านี้กลับส่งผลให้พัฒนาการของเด็กแย่ลง
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงเวลาทองของชีวิตที่สมองจะมีการสร้างเส้นใยประสาทและวงจรการทำงานได้มากและรวดเร็วที่สุด คือช่วงแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี
สิ่งที่ควรทำก็คือส่งเสริมให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ผ่านการเล่นกับพ่อแม่ พี่น้อง ธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ ปั้นดิน เล่นทราย เล่นน้ำ ต่อบล็อก เล่นบทบาทสมมติทำครัว ช่วยเหลืองานบ้าน ทำงานศิลปะ ฟังดนตรี และได้ออกไปสัมผัสประสบการณ์จริงในสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะทำให้พัฒนาการสมวัยในทุกด้าน รวมไปถึงพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตจริงๆ อย่าง การวางแผน การควบคุมยับยั้งตนเอง ความมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมาย
แต่อย่างไรก็ตามการเล่นเกมก็มีทั้งผลดีและผลเสีย เกมบางเกมอาจจะเป็นสื่อที่ช่วยให้เด็กได้ความรู้ จูงใจในการเรียน หรือทำให้เด็กได้ภาษา แต่ปัญหาที่สำคัญคือการไม่แบ่งเวลาในการเล่นมากกว่า ดังนั้นพ่อแม่สามารถอยู่ข้างๆและปลูกฝังวินัยในการเล่นเกมที่เหมาะสมกับเด็ก เช่น
- สร้างวินัยในการเล่นเกมและฝึกการแบ่งเวลา เช่นเล่นเกมได้ต่อเมื่อทำการบ้านเสร็จ และเล่นได้วันละไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง
- หากิจกรรมให้ลูกได้เล่นนอกบ้านในช่วงเวลากลางวัน เช่นกีฬาที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย เพราะเด็กวัยเรียนร่างกายเจริญเติบโตเร็ว การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายโดยเฉพาะกล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง สมาธิดีขึ้น
- ฝึกให้รู้จักแยกแยะเกมแต่ละประเภท และเลือกเกมให้เหมาะสมกับช่วงอายุ เช่นเลือกเล่นเกมที่มี Age Rating ที่เหมาะสม
อ้างอิงจาก