อาการไม่สบายอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเป็นพ่อแม่เป็นห่วงมากที่สุดก็คือ “การชัก” เพราะลูกมักจะไม่แสดงอาการอะไรให้เห็นเลยจนกระทั่งเขาชัก และเมื่อลูกชักหัวใจคนเป็นพ่อแม่ก็แทบตกอยู่ที่ตาตุ่มเพราะกลัวว่าลูกจะเป็นอันตราย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ “จง ตั้ง สติ” ค่ะ เพราะเราสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ลูกได้ก่อนที่จะพาไปพบหมอเพื่อวินิจฉัย โดยส่วนมากเด็กที่มีอาการชักหลายครั้งอาจเกิดจากการเป็น ‘โรคลมชัก’ วันนี้เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มาฝาก รวมไปถึงวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องด้วยค่ะ
สาเหตุ
โรคลมชัก (Epilepsy) เกิดจากสมองถูกกระทบการเทือนหรือเกิดความเสียหายทำให้กระแสไฟฟ้าในสมองลัดวงจรอย่างถาวร จึงเกิดอาการชักขึ้นมาซ้ำๆ ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้น เช่น การติดเชื้อหรือไม่สบาย แต่เมื่อลูกชัก ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคลมชักเสมอไป อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกได้ เช่น มีไข้สูง ท้องเสีย หรือเกิดจากการติดเชื้อเด็กก็สามารถชักได้ โดยหากลูกชัก จะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ เพราะ การเปิดโอกาสให้เด็กชักซ้ำ ๆ นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อสมองของเด็กแล้ว ยังทำให้อาการทวีความรุนแรงขึ้นจนยากที่จะควบคุมอีกด้วย
รูปแบบการชัก
- ชักแบบเหม่อนิ่ง: พบได้บ่อยในเด็กประมาณ 5-10 ปี คือ เด็กจะหยุดพูดหรือหยุดเล่นทันที ไม่ตอบสนองต่อการเรียก และจะจ้องไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมายคล้ายอาการเหม่อเป็นระยะเวลาสั้นๆ
- ชักแบบกระตุกแขนขาเป็นชุดๆ: พบบ่อยในเด็กอายุ 3 เดือน – 1 ปี เด็กจะมีการกระตุก 2 แบบ คือ กระตุกแบบก้มหน้าคล้ายพยักหน้า โดยแขนขาทั้ง 2 ข้างจะโอบเข้าหาตัว และศีรษะจะกระตุกก้มเป็นจังหวะ แบบที่ 2 คือ กระตุกแบบเงยหน้าเป็นจังหวะ โดยแขนขาสองข้างเหยียดออกไปข้างหลังและศีรษะกระตุกเงยขึ้น
- ชักแบบไม่รู้ตัว: เด็กจะมีอาการเตือนนำมาก่อน เช่น อาการกลัว อาการปวดท้อง คลื่นไส้ บางรายอาจมีพฤติกรรมแปลกๆ และซ้ำๆ เช่น ทำปากขมุบขมิบ ขยับมือไปมา หรือให้มือขยำเสื้ออย่างไม่รู้ตัว หลังจากนั้นจะมีอาการเกร็งกระตุกทั้งตัว สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่เด็กไม่รู้ตัวและไม่สามารถจดจำได้ว่าเกิดอาการขึ้นเมื่อใด
- ชักต่อเนื่อง: มีอาการชักต่อเนื่องมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป โดยที่เด็กไม่สามารถเรียกคืนสติได้ในระหว่างที่ชัก ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
วิธีปฐมบาลเบื้องต้น
สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องมีสติ อย่าตกใจและทำตามขั้นตอนดังนี้
- ให้เด็กนอนราบกับพื้น ตะแคงศีรษะไปทางด้านข้าง เพื่อไม่ให้ลิ้นและน้ำลายไปอุดทางเดินหายใจ
- ห้ามนำสิ่งของใดๆเข้าไปในปากหรือพยายามงัดปากเพื่อป้องกันการกัดลิ้น สิ่งของอาจตกเข้าไปในคอจนเป็นอันตรายและทำให้เด็กหายใจไม่ออกได้
- คลายเสื้อผ้าที่รัด ๆ กันคนมุงออกไปห่าง ๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเท
- อย่าพยายามมัดตัวเพื่อหยุดอาการชักของเด็ก
- อย่านวด ง้าง ดึง หากพบว่าร่างกายเด็กแข็งเกร็ง
- สังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับอาการชักเมื่อการช่วยเหลือมาถึงได้อย่างถูกต้อง (หากถ่ายวิดีโอไว้ได้ก็จะดีมาก)
- จับเวลาที่เกิดอาการชัก โดยปกติแล้วจะชักไม่เกิน 5 นาที
- หลังการชักจบลงต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย
วิธีรักษา
หลังจากได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว วิธีการรักษาขั้นต้นคือ การให้ยากันชักซึ่งโดยทั่วไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีหรือนานกว่านั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรักษาจนหายขาดได้ แต่ในบางรายทำได้เพียงแค่ยับยั้งไม่ให้เกิดอาการชักโดยรับประทานยาควบคุมอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจเสนอทางเลือกด้วยการใช้วิธีการผ่าตัด
วิธีป้องกัน
- รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง ไม่ควรเปลี่ยนปริมาณยาด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์หากรู้สึกว่าการรับประทานยาไม่สามารถควบคุมอาการชักได้
- นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถกระตุ้นอาการชักได้ ดังนั้นจึงควรนอนหลับวันละ 6-8 ชั่วโมง
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น และควรดื่มน้ำให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เพราะ โรคพยาธิตืดหมูที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร คือหนึ่งในสาเหตุของโรคลมชักที่สามารถพบได้
- ป้องกันการบาดเจ็บที่สมอง เพราะอาการบาดเจ็บที่สมอง คือสาเหตุของการเกิดลมชักที่พบได้บ่อย