รอบตัวเราที่รายล้อมไปด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย ภัยใกล้ตัวอย่าง “ไฟดูด” จึงเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ ยิ่งบ้านไหนมีเจ้าตัวเล็กวัยช่างสงสัย อยากรู้อยากเห็นแล้วล่ะก็ อะไรก็อยากจับอยากสัมผัสไปเสียหมด ทำเอาความเสี่ยงสูงปรี๊ด เผลอละสายตาไปเสี้ยววินาทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตก็เป็นได้
การป้องกันและการปฐมพยาบาลกรณีไฟดูดเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนควรรู้ วันนี้ Parents One จึงนำวิธีการรับมือและข้อควรระวังมาฝากกัน อย่าลืมเรียนรู้และฝึกฝนเอาไว้เพื่อความปลอดภัยของทุกๆ คนนะคะ
ทำอย่างไร เมื่อลูกถูกไฟดูด ?
สิ่งแรกที่ควรทำคือ “ตั้งสติ!” หากว่าเจอลูกบาดเจ็บกะทันหันต่อหน้าต่อตา เป็นใครก็ต้องตกใจ อยากเข้าไปช่วยใจแทบขาด แต่ขอให้คุณพ่อคุณแม่หายใจเข้าลึกๆ และตั้งสติก่อนค่ะ เพราะหลักสำคัญของการช่วยเหลือ นอกจากจะต้องรวดเร็วแล้ว ก็ต้องรอบคอบเช่นกัน
โดยเฉพาะกับอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดี คนช่วยเหลืออาจโดนไฟดูดไปด้วย คนเจ็บก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
- รีบตัดกระแสไฟฟ้าบริเวณที่เกิดเหตุ สับคัตเอาท์ สับสวิตช์ ยกเว้นเสาไฟฟ้าสาธารณะหรือสายไฟแรงสูง ควรรีบแจ้งการไฟฟ้านครหลวงให้เร็วที่สุด
- แจ้งสายด่วน 1669 ติดต่อสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ยิ่งรวดเร็วและช่วยเหลืออย่างถูกวิธีโดยผู้เชี่ยวชาญก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้มากขึ้น
- เคลื่อนย้ายเด็กไปยังที่ปลอดภัยอย่างระมัดระวัง เพราะการเคลื่อนย้ายแบบผิดๆ อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บมากกว่าเดิม
- หากเด็กหมดสติ เรียกแล้วไม่ตอบสนอง หยุดหายใจหรือมีภาวะหัวใจหยุดเต้น ควรทำ CPR
วิธีการทำ CPR
- เริ่มจากการกดหน้าอก ให้เด็กนอนหงายแล้ววางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอกและวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ กดหน้าอกลึก 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้ง/นาที
- ถ้าเคยทำ CPR มาก่อนให้กดหน้าอกสลับเป่าปากช่วยหายใจ กดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับเป่าปากช่วยหายใจ 2 ครั้งจนกว่าทีมกู้ภัยหรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จะมาถึง
ข้อควรระวัง!
- ห้ามสัมผัสตัวเด็กที่ประสบเหตุไฟดูดด้วยมือเปล่า ควรใช้วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าอย่างไม้แห้ง เชือก หรือถุงมือยางในการช่วยเหลือเสมอ
- หากเกิดเหตุบริเวณน้ำขัง ผู้ช่วยเหลือห้ามลงน้ำโดยเด็ดขาด! ต้องแน่ใจว่ามีการตัดกระแสไฟฟ้าเรียบร้อยแล้วจึงเข้าไปช่วยเหลือ
วิธีป้องกันไฟดูด
- ตรวจสอบปลั๊กไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่เสมอ คอยสังเกตว่ามีการชำรุดหรือเสื่อมสภาพหรือเปล่า ถ้าเห็นแววท่าไม่ดีก็ไม่ควรฝืนใช้ต่อ เกิดอันตรายขึ้นมาไม่คุ้มกันค่ะ
- ติดตั้งสายดินหรือเครื่องตัดไฟรั่วในบ้าน ช่วยป้องกันยามเกิดเหตุไม่คาดฝัน
- เก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟให้พ้นมือเด็ก จัดสภาพแวดล้อมรอบตัวลูกให้ปลอดภัย
- เตือนเด็กๆ ให้เห็นถึงอันตรายจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่เหมาะสม และสอนให้ระมัดระวังตัว คอยสังเกตและหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงภัยอันตราย
ที่มา :