การเลี้ยงลูกให้เติบโตให้เป็นคนดีคนเก่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลลูกตั้งแต่ยังเล็กทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างถูกวิธี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่ารักลูกมากไปจนกลายเป็นการทำร้ายลูกไม่รู้ตัวค่ะ
1. รักลูกแบบกลัวลูกลำบาก
การทำทุกสิ่งอย่างให้ลูก เพราะกลัวว่าลูกจะลำบาก กลัวลูกอด กลัวลูกเจ็บ กลัวไปซะทุกเรื่อง ไม่ยอมให้ลูกลำบาก คอยทำให้ทุกอย่าง เมื่อมีปัญหาใดๆ ก็มักจะยื่นมือไปช่วยเหลือในทันที แบบนี้จะทำให้ลูกไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้เด็กไม่สามารถเผชิญกับปัญหาหรือความลำบากต่างๆ เองได้เลยค่ะ
2. รักลูกแบบกำหนดทางเดินชีวิตให้ลูก
พ่อแม่ทุกคนล้วนมีความต้องการอยากให้ลูกได้ดี ประสบความสำเร็จ และเชื่อว่าเส้นทางที่เลือกไว้ให้ลูกคือเส้นทางที่ดีที่สุดเสมอ โดยไม่ฟังเสียงของลูกว่าลูกชอบอะไร แบบนี้จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกดและอาจจะดื้อรั้นไม่ฟังคุณพ่อคุณแม่เหมือนที่พ่อแม่ไม่ฟังเขา
3. รักลูกแบบให้ความรักไม่เท่ากัน
มักเกิดในบ้านที่มีลูกหลายคน รักลูกไม่เท่ากัน เช่น รักลูกคนโตมากกว่าลูกคนเล็ก โอ๋ลูกคนเล็กมากกว่าลูกคนโต ไม่ค่อยดูแลเอาใจใส่ลูกคนกลาง รักลูกชายมากกว่าลูกสาว ความรักที่มากเกินไปและให้เด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน กลายเป็นเด็กที่มีนิสัยเก็บกด ขี้ใจน้อย เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกลายเป็นคนมีนิสัยขี้อิจฉา ขี้หึง หวาดระแวงจนทำให้ไม่มีความสุขในที่สุด
4. รักลูกแบบเข้มงวดกับลูกมากเกินไป
การที่รักลูกมาก โดยไม่ยอมให้ลูกอยู่ห่างจากสายตาเลย ไม่ว่าลูกจะทำอะไรจะคอยกำกับอยู่เสมอ จะไม่ยอมให้ออกนอกลู่นอกทางเด็ดขาด มีกฎมากมายในชีวิตลูก เช่น ถึงเวลาอ่านหนังสือ ได้เวลาไปเรียนกวดวิชา ไม่อนุญาตให้ไปเที่ยวกับเพื่อนลำพัง สุดท้ายการบังคับลูกมากไป แม้จะด้วยความรักความหวังดีก็จะนำลูกไปสู่การโกหกและกลายเป็นเด็กหนีเที่ยวได้ค่ะ
5. รักลูกแบบปกป้องลูกตลอดเวลา
พ่อแม่ที่ปกป้องลูกตลอดเวลา ไม่ว่าลูกจะมีปัญหาอะไรกับใคร ปกป้องลูก คิดว่าลูกฉันไม่เคยผิด แม้ลูกจะทำผิดก็โทษผู้อื่นเสมอ แบบนี้จะทำให้มีปัญหาเมื่อเขาโตขึ้นกลายเป็นคนที่สังคมไม่ยอมรับเนื่องจากไม่ยอมรับเวลาตัวเองทำผิด
การรักลูกมากเกินไปนอกจากจะทำให้ลูกไม่มีภูมิคุ้มกันเวลาเจอกับปัญหาต่างๆ แล้ว ความรักจนเกินพอดีนี้อาจทำให้ลูกไม่เห็นคุณค่าความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีให้ และกลายเป็นเด็กไม่น่ารักสำหรับใครๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะไม่มีใครอยากคบหา
วิธีการเลี้ยงลูกที่ดีควรสร้างทางเลือกเพื่อให้เด็กมีโอกาสเลือก หรือตัดสินใจด้วยตนเองตามวัยของลูกค่ะ
ที่มา – rakluke