เมื่อสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นอย่างโรคระบาด COVID-19 กลายเป็นปัญหาของคนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัว แต่ก็ยังมีอีกมุมที่น่ากลัวพอๆ กับการติดโควิด นั่นคือ การถูก Bully หรือการกลั่นแกล้งของคนในสังคม ซึ่งวันนี้เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณแม่หัวใจแกร่ง “โบว์ แวนด้า สหวงษ์” ที่จะมาเปิดใจกับผลกระทบในอีกแง่มุมของวิกฤติ COVID-19 ในโปรเจกต์สุดพิเศษ “Save Family From COVID-19 the Series” ไปติดตามกันได้เลยค่ะ
Q : ปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา แม่โบว์ได้พาน้องมะลิไปพักผ่อนที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นประเทศญี่ปุ่นยังไม่พบผู้ติดเชื้อหนักขนาดที่ผ่านมาใช่ไหมคะ
A : รู้สึกว่าที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีคนติดเชื้อแค่คนเดียวนะคะ ซึ่งตอนั้นยังไม่ได้แรงขนาดนี้ค่ะ
Q : แม่โบว์ทราบตอนไหนคะว่าโรคโควิด 19 มันเริ่มระบาดหนักแล้ว รู้หลังจากที่กลับมาไทย หรือว่ามีคนเอาข่าวมาให้ดูตั้งแต่อยู่ที่ญี่ปุ่นแล้ว
A : กลับมาได้วันนึงค่ะ พออีกวันนึงก็มีข่าวจากคุณปู่ที่ไปติดโควิคที่ฮอกไกโดเลยค่ะ เท่านั่นแหละกระแสมันก็เลยบูมขึ้นมาเลย
Q : ตกใจไหม? ที่มีโรคระบาดเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก
A : คือถามว่าตกใจไหม มันกลัวและก็เป็นห่วงคนที่ไปทริปกับเรามากกว่า เพราะว่าทริปที่ไปมันเป็นทริป พาตัวแทนไปประมาณ 70 กว่าชีวิต ทีนี้เราก็เลยไปโฟกัสเรื่องความปลอดภัยของคนที่เดินทางไปกับเรามากกว่า เพราะว่ากลัวจะติดโรคอ่ะค่ะ
จากนั้นเราก็เลยมีไลน์กลุ่มกัน แล้วก็ให้ทุกคนรายงานทุกเช้า 1 ครั้ง เย็น 1 ครั้ง คุณพ่อคุณแม่ใครเป็นไข้อะไรให้รายงานทันที ทำแบบนี้อยู่ประมาณ 24 วัน เอาให้ชัวร์เลยค่ะว่าไม่มีคนติด แล้วทุกคนก็ยอมทำตาม
ซึ่งตอนที่เราไปสถานที่ต่างๆ ที่ญี่ปุ่น เราก็จะบอกไกด์ว่า ถ้ามีคณะทัวร์อื่น จะเป็นคนไทยหรือไม่เป็นคนไทย เราจะไม่ลง ก็คือไปเฉพาะสถานที่ที่มีทัวร์ของเราแค่ทัวร์เดียวเลยค่ะ เราก็จะขอความร่วมมือกับคนในทริปว่าขอไม่ลงตรงนี้นะ เพื่อความปลอดภัย และก็โชคดีว่าตอนที่เราไปเนี่ย หลายสถานที่เราก็จะเป็นกลุ่มทัวร์ที่ไปลงเพียงกรุ๊ปเดียวค่ะ ก็จะไม่เจอกับกรุ๊ปอื่น
แต่ถามว่าสถานการณ์ตอนนั้นก็เป็นการตัดสินใจที่ลำบากอยู่เหมือนกัน เพราะเราก็โดนกระแสว่าห่วงเสียเงิน แต่ไม่ห่วงชีวิต แต่เราก็พยายามดูแลตัวเองเต็มที่เลยค่ะ ไปที่ไหนก็ต้องมีแมส กินก็ต้องไม่กินร่วมกัน ก็จะเป็นเมนูของใครของมัน แล้วก็ขอความร่วมมือว่า ไม่กินช้อนเดียวกัน ไม่กินแก้วเดียวกัน ทุกคนก็ให้ความร่วมมือค่ะ
“ถ้าหนูติดโรคนี้ แม่จะไม่สามารถเข้าไปดูแลหนูได้เหมือนคราวก่อนๆ นะลูก โรคนี้ต้องรักษาคนเดียว หนูจะไม่ได้เจอแม่อีก”
Q : พอกลับไทย แม่โบว์มีวิธีการบอกความน่ากลัว และอันตรายของโรคโควิด – 19 ให้น้องมะลิเข้าใจอย่างไรบ้างคะ?
A : อันดับแรกก็ต้องคุยกับน้องมะลิก่อนว่า ทำไมเราถึงต้องทำแบบนี้ และควรอธิบายว่าโรคชนิดนี้มันร้ายแรง และน่ากลัวอย่างไร? เพราะถ้าหนูเป็นโรคนี้ขึ้นมา แม่จะไม่สามารถเข้าไปดูแลหนูได้เหมือนคราวก่อนๆ นะลูก แม่จะไม่สามารถเข้าไปนั่งข้างเตียงหนูได้เหมือนเดิมนะ โรคนี้ถ้าใครเป็นต้องรักษาคนเดียวหนูจะไม่ได้เจอแม่อีก
เขาก็จะถามว่า แล้วต้องทำยังไงหนูถึงจะไม่เป็น เราก็บอกเขาว่า อันดับแรกเวลาไปข้างนอก อย่าไปจับราวบันได และพยายามหลีกเลี่ยงดการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ให้มากที่สุด ให้ฉีดแอลกอฮอล์บ่อยๆ แล้วก็อย่าลืมใส่แมสตลอดเวลาเมื่อต้องออกไปข้างนอกด้วยค่ะ พอกลับเข้าบ้านมาเราก็จะอาบน้ำเลย รีบทำความสะอาดร่างกายเลยค่ะ
“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่การติด COVID-19 แต่มันคือ การ Bully ของคนด้วยกันเองมากกว่า”
อย่างสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ณ เวลานั้นมันไม่ใช่โรค แต่กลับเป็นการบูลลี่ของคนด้วยกันเองมากกว่า ที่เราอาจจะต้องเจอหลากหลายรูปแบบ คือเข้าใจว่าทุกคนกลัว ซึ่งแต่ละคนก็จะสื่อออกมาได้หลายแบบ บางคนก็เเสดงอาการรังเกียจ บางคนก็เอาเราไปพูดเสียๆ หายๆ ซึ่งบางครั้งก็มีผู้ปกครองที่มาบูลลี่ผู้ปกครองด้วยกันเอง ซึ่งเป็นวิธีที่น่าเกลียดมาก
ตอนนั้นก็เลยรู้สึกเครียดกับการบูลลี่มากกว่าโรคโควิดอีก เราไม่อยากให้คนที่ไปทริปกับเราต้องมาเจอเหตุการณ์อะไรแบบนี้อ่ะค่ะ แต่ว่าทุกคนก็โอเคทุกคนก็สามารถทำความเข้าใจอะไรแบบนี้ได้
Q : ช่วยเล่าประสบการณ์ในการตรวจเชื้อโควิด-19 ให้ฟังหน่อยค่ะ
A : พอกลับมาจากญี่ปุ่น ก็คือกักตัวเองและน้องมะลิให้อยู่ที่บ้าน 14 วันเลยค่ะ จากนั้นก็ค่อยไปตรวจกับคุณหมอ แล้วก็มีการแจ้งว่าเราไปที่ไหนทำอะไรมาบ้าง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย
ซึ่งรวมไปถึงตัวของน้องมะลิ และความสบายใจของเพื่อนๆ ของเขาด้วย เพราะตอนนั้นโรงเรียนก็ยังไม่ปิด เราก็เลยแจ้งทางโรงเรียนไปว่าเราจะกักตัว 24 วันเลย เอาให้ชัวร์ว่าน้องมะลิไม่ติดโรคแน่นอน และที่สำคัญ ก็คือ ป้องกันการถูกบูลลี่ด้วยค่ะ
ขั้นตอนการตรวจที่โรงพยาบาลมันจะมีแท่งๆ ล้วงไปที่คอกับจมูก ซึ่งตัวเรายังอดทนไหว แต่สงสารน้องมะลิมากค่ะ ได้แต่บอกให้อดทนนะลูก รู้ว่าเขาเจ็บมาก แต่น้องก็อดทนไม่ร้องไห้
“ช่วงแรกๆ มีบ้างที่น้องไม่อยากใส่หน้ากาก แต่พอต้องใส่บ่อยๆ เขาจะชินไปเอง จนตอนนี้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้วค่ะ”
Q : น้องมะลิรู้สึกแบบไม่อยากใส่หน้ากากอนามัยบ้างไหมคะ เพราะว่าเด็กๆ มักจะไม่ค่อยชอบใส่กัน เพราะรู้สึกอึดอัด
A : ตอนแรกๆ มีค่ะ เป็นกันเกือบทุกครอบครัว ขนาดผู้ใหญ่เราบางครั้งยังอึดอัด หรือบางครั้งก็ไม่อยากใส่ แต่ด้วยความที่เราก็อธิบายเขาว่าทำไมถึงต้องใส่หน้ากากอยู่ตลอด ถึงแม้เขาจะไม่อยากทำ แต่เขาก็ต้องทำอยู่ดี
พอน้องใส่เป็นระยะเวลานานๆ เขาก็เริ่มชินไปเองจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้วค่ะ พอเวลาเราจะออกไปไหน เขาก็เป็นคนเตือนเราเองเลยว่าอย่าลืมใส่แมสไปนะคะคุณแม่
“พอเด็กเล็กมาเรียนออนไลน์ สมาธิของเขาจะหลุดได้ง่าย เพราะเขาไม่สามารถที่จะโฟกัสอะไรนานๆ ได้
แต่พอเป็นเด็กโต กลายเป็นว่าภาระทั้งหมดโดนคุณครูปัดมาให้ผู้ปกครอง ทั้งการหาอุปกรณ์ต่างๆ คือลูกเรียน ตัวเองก็จะต้องเรียนด้วย”
Q : ช่วงที่ปิดเทอม น้องมะลิได้เรียนออนไลน์ไหมคะ แล้วผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง?
A : จากประสบการณ์ที่เจอมาหลายๆ ครอบครัว รวมทั้งของเพื่อนด้วยเนี่ย ส่วนใหญ่ก็จะบ่นกันหมด เพราะว่าถ้าเป็นถ้าเด็กเล็กแล้วให้เขามาเรียนออนไลน์ ความตั้งใจ และสมาธิของเขาจะน้อยลงกว่าอยู่ในห้องเรียน ทำให้ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการเรียนออนไลน์นานๆ ได้ รวมถึงความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนก็ไม่เท่ากันด้วย
แต่โรงเรียนของน้องมะลิก็มีวิธีการแก้ไขปัญหา โดยมีการจัดเรียนแบบตัวต่อตัวขึ้นมา เพราะเด็กเล็กบางทีเขาก็ไม่สามารถที่จะเรียนหลายคน แล้วรู้เรื่องหรือเข้าใจเนื้อหาได้ทั้งหมดนั่นเอง
แต่พอกลายมาเป็นเด็กโตก็กลับกลายเป็นว่าภาระทั้งหมดกลายมาเป็นภาระของผู้ปกครอง คือต้องรับคำสั่งจากคุณครู แล้วก็ต้องไปหาอุปกรณ์การเรียนต่างๆ อะไรแบบนี้ คือลูกเรียน ตัวเองก็จะต้องเรียนด้วย ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี ข้อดีข้อเสียมันก็ต่างกันค่ะ แต่ก็ดีกว่าลูกไม่ได้เรียนอะไรเลยแบบนี้มากกว่า
“เราต้องเก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่เล่นกับเขาเมื่อยังอยู่ในวัยเด็กให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
Q : ความฝันของคุณแม่หลายๆ คน คืออยากอยู่กับลูกทั้งวัน พอตอนนี้ความฝันเป็นจริงขึ้นมา แล้วรู้สึกอย่างไรบ้างคะ?
A : รู้สึกมีความสุขค่ะ ไม่เหนื่อยนะ คือโบว์จะคิดเสมอว่า ช่วงเวลาที่เขาเด็กเนี่ย มันเป็นช่วงเวลาที่เราสามารถกอดหอมเขาได้ และก็เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถเล่นอะไรกับเขาก็ได้ เพราะว่าเด็กโตไวนะคะ โตเเบบติดจรวด เราไม่รู้เลยว่าในอนาคตเมื่อเขาโตขึ้นเป็นสาวแล้ว เราจะยังสามารถเล่น กอด หอมแบบนี้กับเขาได้อยู่ไหม?
มันก็เลยมีความรู้สึกว่า เราต้องเก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่สามารถทำอะไรกับเขาเมื่อยังอยู่ในวัยเด็กให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เขาก็อยากอยู่กับเราด้วย อยากใกล้ชิดเรา อยากเล่นกับเรา พอโตแล้วเนี่ย ความใกล้ชิดมันก็คงต้องห่างกัน กิจกรรมต่างๆ มันก็ต้องเปลี่ยนไป ทุกๆ อย่างมันก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามวัยและกาลเวลาของมันค่ะ
“ถ้าเขาจะเล่นอะไร เราก็เล่นกับเขาด้วย เพราะการเล่นของเขาไม่ได้ไร้สาระ ทุกครั้งที่เขาเล่น นั่นคือเป็นการเรียนรู้ เปิดจินตนาการ”
Q : แม่โบว์ชอบเล่น หรือทำกิจกรรมอะไรเพื่อคลายเครียดกับน้องมะลิบ้าง?
A : เต้นทั้งวันเลย เขามีความสุขกับการเต้นมาก แล้วก็มีเล่นขายของตามประสาเด็กผู้หญิง ถ้าเขาจะเล่นอะไรเราก็เล่นกับเขาด้วย เพราะมีความรู้สึกว่าการเล่นของเขาไม่ได้ไร้สาระ ทุกครั้งที่เขาเล่น นั่นคือ การเรียนรู้สิ่งต่างๆ และเปิดจินตนาการของเขา มันเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เราก็เลยรู้สึกว่าเราจะเต็มที่กับการเล่นของเขาเช่นกันค่ะ
เวลาที่เขาอยากจะเล่นอะไร อยากให้เราเป็นอะไร เราก็จะเล่นเป็นเเบบนั้นอ่ะค่ะ
“อย่าห้ามลูก แต่จงสนับสนุนให้เขาได้ลองทำในสิ่งที่อยากทำ ค่อยๆ ปล่อยให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง”
Q : เคล็ด(ไม่)ลับ ความน่ารัก และความสดใสของน้องมะลิ
A : ทุกเช้าต้องมีรอยยิ้มให้กันก่อนค่ะ ตื่นมาทุกเช้าก็จะ Good moring ยิ้มหวานให้กันไปทีนึง แสดงความรักให้ลูกเห็นโดยการโอบกอดและการหอมกันก่อน เพราะว่าการแสดงความรักทั้งทางกาย และทางวาจาเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เลยนะคะ
ปล่อยให้เขาได้ลองเรียนรู้ทุกๆ อย่างด้วยตัวเอง อย่าห้ามลูก หรือพูดคำว่าไม่บ่อยๆ เขาอยากทำอะไรก็ปล่อยให้เขาได้ลองทำค่ะ
“เวลาที่เขาอยากให้เราไปอยู่ในส่วนนึงของโลกของเขา เราก็ต้องตามเขาไป แต่เราต้องอย่าฝืนไป”
A : แล้วก็ที่สำคัญ คือ เวลาที่เขาอยากให้เราไปอยู่ในส่วนนึงของโลกของเขา เราก็ต้องตามเขาไป แต่อย่าฝืนไป คือเราต้องสนุกไปพร้อมกับเขา มีความสุขกับเขาอะไรแบบนี้
แล้วเขาจะรู้สึกว่าเขาอยู่กับคนในครอบครัว เขาก็มีความสุขได้โดยที่แบบไม่ต้องโหยหาอะไร พยายามอยู่ในกิจกรรมของเขาให้เยอะๆ แล้วก็หมั่นหัวเราะ และมีรอยยิ้มให้กันบ่อยๆ แต่ก็โชคดีด้วยที่น้องมะลิเป็นเด็กอารมณ์ดีค่ะ ขี้แกล้ง ไม่ค่อยร้องไห้เลย นอกจากอารมณ์คิดถึงพ่อ เขาถึงร้อง แต่นอกนั้นก็จะไม่มีเลย
Q : ช่วงที่กักตัวอยู่ น้องมะลิอยากออกไปเล่นกับเพื่อนบ้างไหม?
A : มีค่ะ แต่โชคดีที่ว่าน้องเล่นคนเดียวได้ ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะต้องเล่นกับเพื่อนให้ได้
ในเมื่อเล่นกับเพื่อนไม่ได้ เขาก็หาอะไรอย่างอื่นเล่นแทน น้องรู้จักการปรับตัว และแก้ไขสถานการณ์ของเขาได้ค่ะ
“โควิด ทำให้เราได้ลองทำในสิ่งที่ไม่กล้าทำสักที นั่นคือ “การขายน้ำพริก” กำไรมาก-น้อยไม่สำคัญ ขอเพียงวันนี้เราได้ลองทำมันแล้ว”
Q : สิ่งที่เราได้เรียนรู้ และปรับตัวหลังจากเกิดโควิด – 19
A : ขายน้ำพริกเนี่ยแหละค่ะ มันเป็นช่วงเวลาที่เราได้ทำในสิ่งที่เราเคยอยากลองทำ แต่ไม่ได้ทำสักที พอมีเวลาว่างก็ไม่อยากปล่อยเวลาทิ้งไปเปล่าๆ ในแต่ละวัน
ในช่วงเวลาที่มันวิกฤติแบบนี้ เหมือนสอนให้เรารู้สึกว่า คุณต้องทำงานให้ได้ทุกอย่าง กำไรมาก-น้อยไม่สำคัญ ขอเพียงวันนี้เราได้ลองทำมันแล้วก็พอค่ะ
Q : พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หลังจากเกิดโควิด-19
A : หลายอย่างเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ได้ใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น ได้รู้ความคิดของลูกว่าเขาชอบอะไรไม่ชอบอะไร รู้นิสัยจริงๆ ของลูกว่าเป็นคนยังไง เพราะได้ใช้ชีวิตอยู่กับลูกเกือบ 24 ชม.
“วิธีให้กำลังใจได้ดีที่สุด คือต้องยอมรับความจริง เพราะเดี๋ยวมันก็ผ่านไป”
Q : แม่โบว์มีวิธีให้กำลังใจตัวเอง และคนรอบข้างให้ผ่านพ้นวิกฤติโรคร้ายนี้ไปได้อย่างไรคะ
A : วิธีให้กำลังใจได้ดีที่สุด ก็คือ อันดับแรกต้องยอมรับความจริง ว่ามันเกิดขึ้นแบบนี้แล้วนะ พอเรายอมรับความจริงได้เเล้ว อันดับที่ 2 ก็คือ ต้องบอกตัวเองว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ซึ่งตัวเราต้องลุกยืนขึ้นมาให้ได้
เราต้องทำในสิ่งที่คิดว่าเราทำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเราทุกคนสามารถทำมันได้ เพียงแต่ขอให้ลองทำ อย่าเกี่ยงว่าเงินมากเงินน้อย เพราะบางคนเงินเดือนเป็นแสนๆ แต่พอเจอวิกฤติก็แบบล้มไปเลย แต่บางคนก็ไม่อายที่จะตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินไปเรื่อยๆ
เชื่อว่าหลายท่าน รวมไปถึง Single Mom ทุกๆ คนนะคะ ก็อยากให้ลุกขึ้นสู้ อดทน อย่าคิดสั้น อย่าจิตตก ลุกขึ้นมาสู้กับสิ่งที่เราจะต้องเผชิญ ไม่ใช่เเค่ครอบครัวเราที่เจอกับวิกฤตนี้ แต่อีกหลายๆครอบครัวก็เป็นเช่นกัน ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอค่ะ
สำหรับการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ทีมงานทุกคนก็ต้องขอขอบคุณ “คุณแม่โบว์ แวนด้า สหวงษ์” ด้วยนะคะ ที่เสียสละเวลามาให้เราได้พูดคุยถึงปัญหาวิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลกระทบกับทุกคน พร้อมด้วยเรื่องราวหลากหลายแง่มุมที่เราอาจมองข้ามในการเลี้ยงลูกช่วง COVID-19 นี้อีกด้วย