การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายสิ่งในชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับการศึกษาที่มีผลกระทบอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้หลายประเทศได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการศึกษามากขึ้น เพื่อการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้
วันนี้ทาง Parents One จึงถือโอกาสนี้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับรูปแบบการศึกษาที่เปลี่ยนไปในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
Active Learning บนแพลตฟอร์มออนไลน์
การสอนแบบออนไลน์แตกต่างกับการสอนแบบที่โรงเรียนตัวต่อตัวอย่างสิ้นเชิง คุณครูเองก็ต้องใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาและเอาศักยภาพของตัวเองมาเปลี่ยนแปลงและประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ใช่การสอนแบบท่องจำหรือเปิดสไลด์ให้เด็กฟังเฉยๆ อย่างแน่นอน เพราะการที่เด็กนั่งเรียนอยู่หน้าจอก็ไม่เกิดสมาธิและแรงจูงใจอยู่แล้ว ทำให้คุณครูต้องเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบ Active Learning บนออนไลน์ ให้เป็น High Functioning Classroom หรือห้องเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งกระบวนการและผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนของเด็กๆ นั้นเอง
โดยวิชาที่สอนนั้นอาจจะไม่ใช่วิชาสามัญ แต่จะเปลี่ยนเป็นวิชาที่มีความสอดคล้องกับชีวิตจริง ที่ให้เด็กๆ ได้ลงมือทำและเกิดการเรียนรู้เองได้จริงๆ เป็นการควบรวมรายวิชาในลักษณะของการบูรณาการให้น้ำหนักไปกับวิชาสัมมนา วิชาค้นคว้าอิสระ อย่างเช่น ให้เด็กแต่ละคนศึกษาในหัวข้อ “My familly’s happiness” ในช่วงโควิด แล้วมาแชร์ไอเดียกันในห้องเรียนออนไลน์ เป็นต้น
โดย Tips ในการสร้างความ Active Learning บนโลกออนไลน์ คือ
- เปิดเวทีให้เด็กแต่ละคน แชร์เรื่องราวของตัวเอง
- เรียนออนไลน์แล้วไปต่อในชีวิตจริงได้ โดยอาจจะมีผู้ปกครองเป็นโค้ชช่วยดูแล
- ติดตามผลงานไปพร้อมกัน อาจจะมีการนัด Video Call ให้เด็กๆ มาเล่าความกล้าวหน้า แลกเปลี่ยนไอเดีย จนถึงขั้นตอนสุดท้ายของผลงาน
- รีวิวบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบวิธีให้คะแนนที่สอดค้องกับบทเรียน แล้วมา Video Call รีวิวงานกันอีกครั้ง โดยสิ่งที่รีวิวจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่ผ่านมา อุปสรรคปัญหา วิธีการแก้ไข และสิ่งที่ต้องพัฒนาของเด็กๆ
หน้าตาโรงเรียนที่เปลี่ยนไปของนักเรียนในต่างประเทศ
เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้โรงเรียนต่างๆ เริ่มมีการปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะต่างประเทศ เพื่อป้องกันโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่โรงเรียน ซึ่งได้แก่
- เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 63 ในโรงเรียนประถมในไทเป มีการปรับโต๊ะที่นั่งเรียนและโต๊ะทานอาหาร โดยมีการกั้นฉากพลาสติกกั้น เพื่อป้องกันโรค
- นักเรียนชั้นปีที่ 3 ของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งหนึ่งในนครอู่ฮั่น มีการนั่งเรียนในห้องเรียนโดยมีพลาสติกกั้นรอบโต๊ะ เพื่อป้องกันละอองฝอยที่อาจจะเกิดจากการพูดคุยหรือรับประทานอาหาร
- เดนมาร์ก มีการเปลี่ยนหน้าตาห้องเรียนในเด็กชั้นประถม มีการนั่งเรียนโดยมีการจัดโต๊ะให้ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร และอนุญาตให้เด็กในห้องเรียนอยู่ได้จำนวนสูงสุด 10 คนในแต่ละชั้นเรียน และไม่อนุญาตให้ทานอาหารกลางวันร่วมกัน
- โรงเรียนมัธยมต้นกว่างโจวหนานอู่ เมืองกว่างโจ มณฑลกว่างตง ทางตอนใต้ของจีน ได้เชิญผู้ปกตรองมาที่โรงเรียน เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ปกครองยังต้องสแกนรหัสสุขภาพแบบคิวอาร์โค้ด ก่อนเข้าบริเวณโรงเรียนด้วย
ปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนที่เปลี่ยนไป
เพราะการเรียนออนไลน์กับการเรียนแบบปกติมันค่อนข้างต่างกัน ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนเปลี่ยนไป ทำให้เด็กบางคนจะไม่ค่อยพูดหรือตอบคำถามใดๆ เวลาเรียนออนไลน์ ครูและนักเรียนต้องสร้างความสัมพันธ์ ต้องมีเทคนิคหรือวิธีการที่ทำให้รู้สึกว่ามีเพื่อนและครูอยู่ตรงนี้กับเขา อีกทั้งคุณครูยังต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก เพื่อให้เขาได้ลองคิดและเรียนรู้ด้วยตนเองนั่นเองค่ะ
เทคโนโลยีด้านการศึกษาพัฒนามากขึ้น
การระบาดของโควิด-19 ทำให้การศึกษาทั่วโลกต้องปรับตัวในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว ทำให้มีแนวการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดในยุคนี้เกิดขึ้น เช่น
- Microsoft Teams
- Google Classroom
- LOOM
- Zoom
- OBS Studio
- เรียนผ่านดาวเทียม DLTV
ซึ่งข้อดีของการเรียนออนไลน์ก็คือ
- ช่วยลดเวลาการเดินทาง ทั้งครูและนักเรียนได้
- มีโปรแกรมเหล่านี้ในการช่วยจัดการ เช็กชื่อนักเรียน และรับเอกสารต่างๆ เพื่อใช้ในการประเมินนักเรียนได้สะดวกมากขึ้น
- มีช่องทางการสื่อสารระหว่างครูผู้สอน และผู้เรียนได้สะดวกขึ้น
- ใช้เครื่องมือออนไลน์ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้มากขึ้น
การเรียนรู้จากบ้านที่เกิดจากการเล่น
การเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้การศึกษาของเด็กๆ เปลี่ยนไป ทำให้โรงเรียนปิด แถมผู้ปกครองก็ยังต้องกลับมาทำงานที่บ้านกันอีก ถึงแม้จะมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นแต่เรื่องนี้ก็มีเรื่องดีอยู่ไม่ใช่น้อย นั้นก็คือ การได้ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่บ้านโดยมีพ่อแม่เนี่ยแหละเป็นคนจัดการ โดยบางครั้งไม่ต้องพึ่งตำราเรียนเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าเด็กๆ จะได้มีการเรียนรู้อย่างแท้จริง ทำให้เด็กๆ ได้มีโอกาสได้ทดลอง ลงมือทำ ค้นคว้าข้อมูลได้ด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง แต่ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องมีความยืดหยุ่นพอที่จะสนใจว่าเขาอยากที่จะเรียนรู้หรือศึกษาอะไร และหนังสือเล่มไหนที่จะนำพาให้เขาต่อยอดไปสู่เรื่องที่สนใจได้บ้าง เรียกได้ว่าเด็กๆ จะได้เรียนที่บ้านแบบตัวต่อตัวกับคุณพ่อคุณแม่อย่างแน่นอน ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้เด็กๆ ไม่สามารถมีได้ในห้องเรียนที่มีเด็กๆ ทั้งห้อง 20-30 คน อย่างแน่นอนค่ะ
อิตาลี พลิกโฉมการเรียนชั่วข้ามคืน
เชื่อได้เลยว่าทั่วโลกก็มีการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เรื่องการศึกษานั้นก็ต้องมีการเลื่อนเปิดและปิดภาคเรียนกันออกไป และมีการสอนแบบออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้จากกรณีศึกษาในโรงเรียนนานาชาติมอนซา แคว้น Lombardy ประเทศอิตาลี ซึ่งมีการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอันดับ 2 ของโลก ได้นำระบบการเรียนออนไลน์มาใช้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืน หลังจากรัฐบาลท้องถิ่นประกาศมาตรการล็อคดาวน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสนั่นเอง
ซึ่ง Lain Sachdev ครูใหญ่ของโรงเรียนนานาชาติมอนซา ได้มีการสั่งเรียกระดมพลคุณครูแทบจะในทันทีที่ทราบประกาศการล็อคดาวน์ เพื่อจัดทำคลิปวีดีโอสั้นๆ สำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง โดยคุณครูมีเวลาเพียงแค่ 1 วัน ในการจัดทำเพื่อให้สามารถเปิดชั้นเรียนออนไลน์ให้ได้ภายในวันถัดไป โดยนักเรีนยทุกคนจะได้รับหนังสือเรียนเหมือนเดิม แต่วิธีการเรียนการสอนจะแตกต่างจากเดิมออกไป เช่น การที่คุณครูสอนผ่านระบบประชุมวีดีโอทางไกลในทุกวัน เด็กๆ เข้าร่วมเรียนผ่าน Padlet ระบบโพสอิทโน้ต ใช้โปรแกรม Flipgrid ที่ช่วยให้ครูและนักเรียนร่วมสร้างวีดีโอสั้นๆ มาแบ่งปัน และใช้เครื่องมือออนไลน์ เป็นต้น
เรียกได้ว่าเพียงชั่วข้ามคืน ก็ทำให้พลิกระบบการศึกษาโลกสู่การเรียนการสอนแบบแพลตฟอร์มออนไลน์กันเลยทีเดียวค่ะ
ความไม่เท่าเทียมของการศึกษา
ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง เราจะเห็นได้ชัดเจนในช่วงที่เด็กๆ เริ่มมีการปรับตัวมาเรียนแบบออนไลน์ ทำให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในด้านการศึกษามาก เนื่องจากมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา เนื่องจากขาดหลายๆ สิ่ง ทั้งอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยก็เป็นสิ่งที่เด็กๆ บางคนก็ขาดเช่นกัน
ในอีกแง่หนึ่ง ส่วนของนักเรียนที่ทางบ้านค่อนข้างมีพื้นฐานที่ดีกว่า ย่อมมีความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากกว่า ทั้งอุปกรณ์การเรียน สถานที่ หรือแม้แต่การหาคุณครูเรียนแบบออนไลน์ก็ย่อมหาได้ดีกว่า ส่วนนี้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมของการศึกษาเกิดขึ้น แต่หากไม่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาดอยู่นี้ ก็ทำให้เด็กๆ ต้องหยุดเรียนเป็นเวลาหลายเดือนเช่นกัน
ปรับปรุงห้องเรียนให้ปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19
เพราะโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีเด็กอยู่เป็นจำนวนมาก และยังมีผู้ที่ปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นคุณครู เจ้าหน้าที่ แม่ครัว รวมไปถึงผู้ปกครอง ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้ง่าย
ซึ่งในการเปิดเทอมหรือการปรับปรุงห้องเรียนของโรงเรียนให้เข้ากับยุคโควิดแบบนี้ ก็ต้องได้ความร่วมมือจากทุกๆ คนเพื่อหยุดการแพร่กระจายซึ่งมีดังนี้
ก่อนเปิดเรียน
- ตรวจสอบสถานที่ ซ่อมแซม ปรับปรุง ทำความสะอาดทั้งอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ห้องน้ำ ห้องครัว โรงอาหาร
- จัดสถานที่เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เช่น การเข้าแถว เข้าคิว ที่นั่งเรียน ที่นั่งทานอาหาร ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (อย่างน้อย 1 เมตร)
- ทำสัญลักษณ์เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
- เหลี่ยมเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน
- สำหรับเด็กเล็กที่ต้องนอนกลางวัน ควรจัดที่นอนให้รักษาระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร โดยไม่เอาศีรษะชนกันและแยกอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวไม่ให้ใช้ร่วมกัน
- แจ้งผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่มีอาการเจ็บป่วย หรือกลับจากพื้นที่เสี่ยงและอยู่ในช่วงกักกัน ให้หยุดเรียน และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
วันเปิดภาคเรียน
- จัดทำประวัตินักเรียนและครอบครัวเกี่ยวกับสุขภาพ
- คัดกรองเด็กนักเรียนบริเวณทางเข้าโรงเรียน พร้อมทำสัญลักษณ์ผ่านการคัดกรอง เช่น ติดสติกเกอร์
- หากพบเด็กป่วย หรือมีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หายใจเหนื่อย หอบ ให้ผู้ปกครองพาไปพบแพทย์
- จัดเตรียมอุปกรณ์ล้างมือ เช่น เจลแอลกอฮอล์ไว้บริเวณทางเข้าสถานที่ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี
- ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวโรงเรียนทุกวัน อย่างน้อยวันละครั้ง
- กำจัดขยะอย่างถูกวิธีทุกวัน
- จัดพื้นที่ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร เช่น การเข้าแถวหน้าเสาธง การนั่งเรียนในห้องเรียน ห้องประชุม โรงอาหาร เป็นต้น
- ลดความแออัดของเด็กนักเรียน เช่น เหลี่ยมเวลาช่วงรับประทานอาหารกลางวัน ยกเลิกกิจกรรมที่มีการสัมผัสและใกล้ชิดกัน
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
อ้างอิงจาก : https://www.the101.world/future-of-thai-education-after-covid19/, https://tdri.or.th/2020/05/examples-of-teaching-and-learning-in-covid-19-pandemic/, https://www.eef.or.th/30577/, https://www.eef.or.th/7511/, https://www.isranews.org/article/thaireform/thaireform-documentary/88127-COV-3.html