บางครั้งก็เพราะเอ็นดูมากๆ หรือรู้สึกอยากเล่นด้วยกับเทวดาหรือนางฟ้าตัวน้อยของบ้าน จึงมักทำให้เราชอบตั้งชื่อตามแบบของลักษณะบางอย่างเพื่อให้เกิดความพิเศษขึ้นอย่าง ต้าวอ้วนเตี้ยของแม่ เจ้าดั้งแหมบของพ่อ อะไรแบบนี้ใช่มั้ยคะ แต่ทว่าถึงแม้จะพูดด้วยความรู้สึกรักอย่างไร คำที่ออกมากลับสร้างความรู้สึกตรงกันข้ามเสียอย่างงั้นแน่ะ!
เคยสังเกตมั้ยว่าพอพูดแล้ว ลูกรู้สึกไม่ชอบ หรือเรียกแล้วลูกมีคำถามว่าทำไมต้องเรียกเขาแบบนี้ เพราะเขาอ้วนมากเหรอ? เพราะเขาหน้าตาไม่น่ารักใช่มั้ย หากลูกเริ่มตั่งคำถามนั่นแปลว่า เราได้เผลอ Body shaming ลูกเข้าแล้วนี่เองค่ะ
Body Shaming คืออะไร?
Body shaming คือการวิจารณ์รูปลักษณ์ด้วยการพูดถึงรูปร่าง, ลักษณะ, ข้อด้อยบนร่างกาย หรือเปรียบเทียบว่าแบบนี้คือไม่ดี อีกแบบดีกว่า ซึ่งการทำแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เสียมารยาทอย่างมากในการพูดจาถึงผู้อื่นเพราะอาจส่งผลเสียทั้งกระทบจิตใจ และทำลายความมั่นใจของผู้อื่น ยิ่งในกรณีที่ถูก body shaming มาตั้งแต่เล็กๆ ก็จะทำให้เด็กที่โดนมาตลอดเกิดความรู้สึกด้อยค่า, ไม่เคยภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น และสุดท้ายกลายเป็นเด็กที่เก็บตัว เก็บกด
ตัวอย่างคำที่เข้าข่าย Boby Shaming
เพื่อป้องกันไม่ให้เผลอทำร้ายจิตใจด้วยการพูดอย่างไม่คิดหรือคาดไม่ถึง ทาง Parents One จึงได้ยกคำที่เข้าข่ายการ body shaming มาให้ดูกันค่ะ หากมีคำไหนที่ดูแล้วมีความหายใกล้เคียงกับคำเหล่านั้น เป็นไปได้ควรงดหรือยกเลิกใช้ไป อาทิ
- อ้วนเป็นตุ่ม
- ดำตับเป็ด
- ปากห้อย
- เตี้ยม่อต้อ
- หัวฟูเป็นฝอยขัดหม้อ
- หน้าบานเป็นกระด้ง
- ไม่มีคอแล้วเห็นแต่เหนียง
- อี, ไอ้เหยิน
- เถิกจนล้าน
- ไอ้/อีตี่
- ไม้เสียบผี
- สูงเป็นเปรต
- อี, ไอ้ไฝ
- ดั้งหัก
- ขนดกเหมือนลิง
ผลกระทบจากการ Body Shaming
พอยกตัวอย่างแล้วรู้สึกใช่มั้ยคะว่าเป็นคำที่เราอาจเคยโดนหรือเพื่อนๆ เราเคยโดนมาตั้งแต่เล็กซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมเกิดความไม่สบายใจ, เกิดการตั้งคำถามกับสิ่งที่โดนว่าเราเป็นแบบนี้จริงๆ รึเปล่าซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเด็กๆ ของเราถูกวิจารณ์แบบนั้นมันส่งผลให้เกิดความรู้สึกในด้านต่างๆ อาทิ
- เกิดความไม่มั่นใจในตนเอง
- รู้สึกมีปมด้อย, รังเกียจสิ่งที่ตนเองเป็น
- สุขภาพจิตย่ำแย่จนทำให้เป็นเด็กเก็บกด
- หนีออกห่างจากสังคมเพราะรู้สึกถูกคุกคาม
- กลายเป็นคนชอบวิจารณืคนอื่นเช่นกันเพื่อเอาคืน
สิ่งที่ควรพูดเพื่อให้กำลังใจลูก
พอรู้แบบนี้แล้วใช่มั้ยคะ ว่าสิ่งที่เราพูดหรือแซวเป็นปกตินั้นคือเรื่องที่ไม่ควรไปจนถึงไม่มีมารยาทหรือกาลเทศะในการพูดกับผู้อื่นโดยเฉพาะกับเด็กน้อยที่เรารัก เราก็อยากให้เขามีความมั่นใจในตนเอง และรักตัวเองให้มากๆ เหมือนที่เรารู้สึกรักเขาซึ่งสิ่งที่จะช่วยได้คือ
- ไม่วิจารณ์รูปร่าง, หน้าตาลูกด้วยข้อด้อย
- ชมหรือพูดถึงข้อดีต่างๆ ของลูกด้วยความจริงใจ
- ไม่เปรียบเทียบรูปร่างลูกเรากับลูกคนอื่น
- คอยให้กำลังใจเสมอเวลาลูกโดนใคร body shaming เพื่อให้ลูกเชื่อมั่นว่าเราอยู่ข้างเขาเสมอ