รักหลอกจึงหยอกเล่นเป็นค่านิยมที่ผู้ใหญ่หลายๆคนชอบใช้พูดยามแกล้งให้เด็กต้องร้องไห้
แต่ใครจะรู้ว่าการหยอกเล่นหรือกลั่นแกล้งของผู้ใหญ่นั้นจะเป็นปัญหาใกล้ตัวกว่าที่คิด
ไม่ใช่เพียงพ่อแม่แต่ผู้ใหญ่ในบ้านหลายคนมักจะรู้สึกเอ็นดูหรืออยากหาวิธีเล่นกับเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาซื้อขนมหรือของเล่นเพื่อหาหัวข้อมาชวนพูดชวนคุยและอีกอย่างที่มักถูกเลือกเป็นตัวเลือกในการเข้าหา คือการหยอกการแกล้ง บางครั้งพี่ป้าน้าอามักจะรู้สึกตลกขบขันหรือมันเขี้ยวเวลาเจ้าตัวเล็กของบ้านแสดงอารมณ์มากๆ ออกมาเพราะดูแล้วรู้สึกเป็นเรื่องสนุกสนาน ยิ่งเห็นมีปฏิกริยาแสนไร้เดียงสาก็ยิ่งอยากให้มีอาการที่หนักข้อขึ้น
ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กอีกหลายข้อตามมา
และการหยอกการแกล้งนี้ส่งผลอย่างไรบ้างหากปล่อยเรื้อรังไว้
มาดูกันเลยค่ะ
เกิดความรู้สึกวิตกกังวล, ขี้ระแวงไม่ไว้ใจใคร
หากเด็กถูกแกล้งทางกาย อาทิโดนหยิบขนมไป โดนเอาของเล่นไปจนต้องร้องไห้กระจองอแง แดดิ้นกับพื้นจนเหนื่อยแล้วถึงยอมคืนแต่คนแกล้งก็ยังคงหัวเราะเยาะ จะทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาถูกทำให้กลายเป็นตัวตลก ส่งผลให้กลายเป็นคนมองโลกแง่ร้าย ไม่เชื่อใจใครแม้แต่คนในบ้านเพราะเขาจะจดจำมาตั้งแต่วัยเด็กว่าถูกคนรอบข้างกลั่นแกล้งมาก่อน ทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลตลอดเวลาที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าและความหมาย
บ่อยครั้งที่การหยอกของผู้ใหญ่ชอบบอกจะพ่อแม่ไม่รักแล้ว “โดนเก็บมาเลี้ยง” “พ่อแม่รักคนนั้นคนนี้มากกว่า” “ทำไมอ้วนแบบนี้” “โตไปไม่สวยแน่ๆ” “ขี้เหร่มาก” อาจมองเป็นคำขำๆ ที่แซวเอาสนุก แต่คนที่ได้รับสารนั้นไม่ได้รู้สึกเป็นเรื่องสนุกได้ เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนจริง สิ่งไหนหลอก การรับสารมามากๆว่าเขาไม่ใช่คนที่ถูกรัก ไม่ใช่ลูกแท้ๆ เป็นเด็กที่หน้าตาน่าเกลียด ก่อให้เกิดปมในใจและสุดท้ายเขาจะเชื่อว่า เรื่องเหล่านั้นคือความจริงจนกลายเป็นเด็กที่กีดกันตัวตนออกจากครอบครัวในที่สุด
ชินชากับการกลั่นแกล้งและสุดท้ายก็กลายเป็นผู้กลั่นแกล้งซะเอง
หากเด็กไม่มีอาการหวาดวิตกหรือไม่ชอบใจแต่เกิดการเรียนรู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติ สิ่งนี้ก็อันตรายเช่นกันเพราะปัญหารนั้นไม่ต่างกับการที่ครอบครัวใช้ความรุนแรงและส่งผลให้เด็กกลายเป็นคนก้าวร้าวในสังคม เมื่อเขาเรียนรู้ว่าการแกล้งคือเรื่องธรรมดาที่สามารถได้ ก็อาจติดนิสัยไปใช้กับบุคคลภายนอกทั้งเพื่อนและอาจารย์ และหากไม่มีใครห้ามจนการแกล้งหนักข้อขึ้น มันคงกลายเป็นความรุนแรงในที่สุดเมื่อเริ่มมีการทำร้ายร่างกายหรือพูดจาด้วยคำหยาบคาย
สุดท้ายเด็กน้อยที่น่ารักของเราก็จะกลายเป็นเด็กมีปัญหาไปในที่สุด
วิธีการหยอกเล่นที่ถูกวิธี
แน่นอนว่าจะอย่างไรเราก็ยังคงรักและอยากเล่นกับลูกกับหลาน หากแตะต้องไม่ได้เลยก็คงจะรู้สึกอึดอัดไม่ใช่น้อย มาดูกันไปทีละข้อนะคะว่าควรทำอย่างไรบ้าง
- ชวนพูดคุยเรื่องที่สนใจหรือสนุกสนานแทนการวิจารณ์รูปร่างหน้าตาและความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดหัวข้อสนทนาที่สร้างสรรค์กับเด็ก
- ไม่หยิบหรือดึงของออกจากมือลูกหรือหลานแต่ใช้วิธีขอดู,ขอจับแทนเพื่อให้เด็กรู้จักที่จะมีน้ำใจแบ่งปัน
- วางตัวให้เหมาะสมกับการเป็นผู้ใหญ่ หากพบเห็นว่ามีญาติผู้ใหญ่คนอื่นในบ้านมีการแกล้งรุนแรงหรือพูดวาจาไม่ดี ให้เตือนกันเองว่าไม่ควร
- คอยชมและคอยบอกเสมอว่าเขาเป็นลูก, หลานที่รักและเป็นครอบครัวเดียวกันเสมอเพื่อสร้างความรักความผูกพันระหว่างผู้ใหญ่และเด็กให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ที่มา : happymom.life, haijai