ช่วงนี้กำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งหลายๆ โรคก็มาพร้อมกับอากาศร้อน ทางกรมควบคุมโรคจึงออกประกาศให้ทุกคนระมัดระวังการเจ็บป่วยด้วย 7 โรค คือ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย โรคไข้เลือดออก และโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนภัยสุขภาพและผลกระทบ ได้แก่ การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ปัญหาหมอกควัน และการจมน้ำ
7 โรคติดต่อที่พบมากขึ้นในฤดูร้อน ได้แก่
1) โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ เข้าไป ถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
2) โรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน เช่น โรงเรียน พบเมื่อกินอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่ทำไว้นานๆ
3) โรคบิด เกิดจากเชื้อบิดซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียหรืออะมีบา เกิดจากอาหารปนเปื้อน ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูกเลือดปน ปวดเบ่งคล้ายอุจจาระไม่สุด มีไข้
4) อหิวาตกโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำครั้งละมากๆ หรือถ่ายอุจจาระเหลวสีคล้ายน้ำซาวข้าว มักไม่มีอาการปวดท้อง อาจมีอาเจียนร่วมด้วย
5) ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย เกิดจากเชื้อไทฟอยด์ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อได้โดยรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการสำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร
คำแนะนำในการป้องกันทั้ง 5 โรค มีดังนี้ 1.ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง 2.รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารค้างมื้อควรเก็บในตู้เย็นหรือเก็บมิดชิด และต้องอุ่นก่อนรับประทาน 3.ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่ได้รับการรับรองจาก อย. 4.กำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลรอบๆ บ้าน และถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
สำหรับ 3 ภัยสุขภาพได้แก่
1) การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาการคือ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง ควรดื่มน้ำให้มาก สวมเสื้อผ้าที่ระบายได้ดี งดอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
2) ผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน มีความเสี่ยงเจ็บป่วยจาก 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตาอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ
3) การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) เป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด ประมาณ 1 ใน 3 ของการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กตลอดทั้งปี ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง ต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด
อ้างอิงจาก
https://ddc.moph.go.th/th/site/newsview/view/4583