เชื่อเลยว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ถ้ามีลูก ก็มักจะถ่ายภาพต่างๆ ในชีวิตประจำวันของลูกเก็บกันไว้อยู่แล้ว ซึ่งการเก็บของแต่ละคนส่วนใหญ่ก็มักจะเก็บไว้บนโลกโซเชียลค่ะ จริงๆ มันก็อาจจะดูไม่มีพิษไม่มีภัย พ่อแม่อย่างเราเองก็ไม่ได้มีเจตนาไม่ดีในการลงรูป
ซึ่งรู้ไหมคะว่ามันเป็นอันตรายกับเด็กๆ มากแค่ไหน เพราะทุกครั้งที่เราคลิกโพสต์ ก็เหมือนเป็นการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้กับคนแปลกหน้าได้เช่นกันค่ะ
Sharenting (n.) เกิดจากคำว่า Share + Parenting
ใช้เรียกกิจกรรมที่พ่อแม่ยุคใหม่ชอบโพสต์ และแชร์ภาพลูกจนเกินพอดี ซึ่งอาจนำไปสู่การเผยข้อมูลส่วนตัวและรายละเอียดกิจกรรมที่เด็กๆ ทำ จนทำให้ส่งผลกระทบได้ในอนาคต
เช็คพฤติกรรมเราลงรูปลูกเกินไปหรือเปล่า
- ลูกหกล้มร้องไห้ เราหยิบมือถือถ่ายก่อนจะช่วยเหลือ
- เพื่อนๆ เริ่มอันฟอลโลว์เรา เนื่องจากลงรูปลูกซ้ำๆ จำนวนมาก
- วันไหนที่ไม่ลงรูป คนอื่นมักจะถามว่าลูกเป็นอะไรหรือเปล่า
พ่อแม่สร้างเรื่องราวออนไลน์ให้ลูกยังไง
- โพสต์ภาพลูกเพื่อเรียกคะแนนความสนใจและการกดไลก์จากเพื่อนๆ
- อัปโหลดข้อมูลส่วนตัวลูกบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่น ชื่อโรงเรียน ชื่อนามสกุลจริงของลูก ข้อมูลสุขภาพ
- แชร์สถานที่ที่ลูกอยู่หรือเคยไปเสมอ เช่น บ้าน โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
- แชร์ภาพหรือข้อความเกี่ยวกับลูกที่ไม่เหมาะสม
- แชร์ทุกอย่างโดยเปิดเป็นสาธารณะเสมอ
ส่งผลกับลูกตอนโตยังไงบ้าง
1. ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็ก
เพราะการเผยแพร่ภาพลูกแต่ละครั้ง มันอาจจะไม่ใช่แค่การอวดความน่ารักของลูกแล้ว แต่มันยังเป็นการแสดงออกถึงข้อมูลพื้นฐานของเด็กๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น อายุ โรงเรียน ข้อมูลกิจวัตรประจำวัน ซึ่งอันตรายต่อตัวเด็กมากนั่นเองค่ะ
2. เด็กสูญเสียความเป็นตัวเอง เพราะพ่อแม่สร้างตัวตนให้กับเด็กเองแบบที่เขาไม่ได้ต้องการ
พ่อแม่หลายคนมักจะสร้างตัวตนให้กับลูกบนโลกโซเชียลในแบบที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นน่ารักตลอดเวลา ซึ่งนี่จะทำให้เด็กๆ สูญเสียความเป็นตัวเอง เพราะพ่อแม่มีการจัดการให้เรียบร้อยเพื่อให้ภาพออกมาดูดีในสายตาคนอื่น ทำให้เด็กๆ ขาดธรรมชาติได้ เพราะต้องดูดีต่อหน้าสาธารณชน ซึ่งเป็นปัญหาตามมาในอนาคตลูกได้ค่ะ
3. สภาพจิตใจในอนาคตของลูก
เช่น พ่อแม่โพสต์รูปลูกตอนเด็กๆ แบบเปลือย ซึ่งพอเขาโตขึ้น ภาพนี้มันก็ยังอยู่ตลอดบนโลกโซเชียล มันอาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของลูกได้เมื่อพวกเขาโตขึ้น หรือเด็กหลายคนไม่ชอบที่โตไปแล้วมีคนรู้จักมากมาย เป็นที่รู้จักของสาธารณะชน ซึ่งตัวตนนั้นเด็กๆ อาจจะไม่ได้ต้องการมาตั้งแต่ตนนั่นเองค่ะ
อ้างอิงจาก : Rama channel, adaymagazine, คลังความรู้ SciMath