เด็กแต่ละช่วงวัย มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการเลี้ยงดูและดูแลเรื่องต่างๆ ก็ต่างกันไปด้วย ดังนั้น อย่างแรกคือคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละวัยก่อน จากนั้นก็ปรับการเลี้ยงดูลูกให้เหมาะสม เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี เติบโตเหมาะสมกับวัย วัยอนุบาลยังมีความเป็นเด็กอยู่มากก็ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ส่วนวัยประถมจะถูกประคับประคองน้อยลงจากวัยอนุบาล แต่ก็ยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะมีพัฒนาการที่รวดเร็วทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิด ไปดูกันว่าคุณพ่อคุณแม่จะมีแนวทางการเลี้ยงดูลูกทั้งสองวัยนี้อย่างไรค่ะ
ด้านร่างกาย
เด็กอนุบาล : ฝึกให้ลูกเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างเหมาะสม
เด็กประถม : ฝึกให้ลูกเริ่มเล่นกีฬาและออกกำลังกาย
พัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กวัยอนุบาล มีการเคลื่อนไหว ส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้นคุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกมีพัฒนาการด้านร่างกาย เช่น รู้จักป้อนข้าวเอง แต่งตัวได้เอง ใส่รองเท้าและอาบน้ำได้ ส่วนเด็กช่วงอายุ 6-12 ปี หรือวัยประถม ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงและมีความสามารถเพิ่มขึ้นหลายด้าน เด็กจะใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้ดี คุณพ่อคุณแม่อาจจะให้ลูกเริ่มเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เช่น เตะฟุตบอล เล่นไล่จับ ซ่อนหา ว่ายน้ำ ปิงปอง เป็นต้น การส่งเสริมให้ร่างกายหลายส่วนทำงานคล่องแคล่ว ประสานกัน ต้องอาศัยการฝึกฝนผ่านการทำกิจกรรมทั้งงานบ้าน การกีฬา การใช้ชีวิต ซึ่งจะไปส่งเสริมให้เด็กกระฉับกระเฉง หูไว ตาไว สมาธิดี ประสาทต่างๆ ทำงานได้รวดเร็ว
ด้านอารมณ์
เด็กอนุบาล : สอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ทำความเข้าใจความรู้สึกที่ลูกแสดงออกมา
เด็กประถม : สอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของตนเอง และปรับตัวในสังคมอย่างเหมาะสม
พัฒนาการทางอารมณ์ ของเด็กวัยอนุบาลนี้มักเป็นคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิดและโกรธง่าย ดื้อรั้นเป็นวัยที่เรียกว่าชอบปฏิเสธ และอาการดังกล่าวจะค่อยๆหายไปเองเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนมีเพื่อนเล่นมาก แต่อย่างไรก็ตามพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กจะมั่นคงเพียงใดขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูเป็นสำคัญ ดังนั้นควรสอนให้ลูกวัยอนุบาลนี้รู้จักใช้เหตุใช้ผล คอยรับฟัง ยอมรับและเข้าใจความรู้สึกที่ลูกแสดงออกมา ไม่ควรตำหนิ แต่ควรเปลี่ยนเป็นการให้กำลังใจแทน ส่วนในวัยประถมก็เช่นกัน ควรสอนให้เด็กเรียนรู้จักกับทุกอารมณ์ ความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาและช่วยให้เขาสามารถหาทางออกที่เหมาะสม เพื่อเป็นพื้นฐานของการแก้ปัญหา ควรส่งเสริมให้เด็กวัยนี้ ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง และปรับตัวในสังคมอย่างเหมาะสม โดยฝึกฝนแนะนำ ให้คำชมเมือเด็กทำได้ดี และแก้ไขชักจูง แนะนำเมื่อเด็กทำตัวไม่เหมาะสม จะเป็นการสร้างเสริมความฉลาดทางอารมณ์ ที่เรารู้จักกันดีในนามของอีคิว ซึ่งเป็นทักษะหรือศิลปะในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ด้านสังคม
เด็กอนุบาล : พาลูกออกไปทำกิจกรรมก่อนเริ่มเข้าโรงเรียนเพื่อให้ชินกับสภาพแวดล้อมใหม่
เด็กประถม : สอนให้เด็กมีความรู้สึกดีต่อตนเองจะทำให้มีทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น
ในวัยอนุบาลพ่อแม่ต้องช่วยลูกในการปรับตัวด้านสังคมเพราะเป็นช่วงที่ลูกเพิ่งจะเริ่มมีสังคม มีเพื่อนใหม่ เจอคุณครูซึ่งไม่ได้มีแต่คุณพ่อคุณแม่เหมือนตอนอยู่ที่บ้าน ควรฝึกให้ลูกรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่น พาไปเข้าสังคม ทำกิจกรรมในช่วงก่อนเริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาล ส่วนวัยประถมก็จะเป็นสังคมที่โตขึ้นเป็นการออกสู่สังคมภายนอกอย่างจริงจัง เด็กจะได้เรียนรู้ในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการปรับตัวที่โรงเรียน การที่เด็กจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ดี จะต้องมาจากรากฐานครอบครัวที่มีความรัก เอื้ออาทร มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือในยามที่ต้องการเมื่อประสบกับปัญหา ชื่นชมความดีในความสามารถของเด็กแต่ละคนอย่างเหมาะสม เป็นหนทางที่ช่วยให้เด็ก มีความรู้สึกดีต่อตนเอง เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง มีอารมณ์มั่นคง ภาคภูมิใจในตนเอง มีทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น
ด้านการเรียน
เด็กอนุบาล : เด็กเล็กเน้นฝึกสมาธิให้ลูก
เด็กประถม : การเรียนหนักขึ้นให้ลูกผ่อนคลายบ้าง
การเรียนในชั้นประถมจะต่างจากอนุบาลคือ มีการเรียนวิชาการเป็นชั่วโมงๆ เด็กต้องนั่งเรียนเป็นเวลานานๆ อาจรู้สึกเหนื่อยและเบื่อได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ไม่ลืมที่จะให้ลูกได้ผ่อนคลายบ้าง ส่วนเด็กอนุบาลพยายามฝึกสมาธิให้ลูกให้ลูกมีสมาธินั่งเรียนได้เพราะยังเป็ยวัยซุกซนอยากเล่นตลอดเวลา
เด็กอนุบาล : การบ้านไม่มากแต่ต้องมีช่วงเบรค
เด็กประถม : แบ่งเวลาตรวจการบ้านและทบทวนหนังสือให้ลูก
เด็กวัยประถมมีการบ้านมากกว่าเด็กอนุบาล พ่อแม่ควรแบ่งเวลาช่วยเหลือเรื่องบทเรียนของลูก เช่น ช่วยตรวจการบ้านที่ลูกทำว่าถูกต้องหรือไม่ ส่วนเด็กอนุบาลที่มีการบ้านไม่มากแต่ก็เป็นช่วงวัยที่ยังต้องการเล่นอยู่มาก ควรมีช่วงเบรกให้ลูกพัก และไม่บังคับลูกมากจนเกินไป นอกจากช่วยตรวจการบ้านลูกแล้วช่วยลูกในการทบทวนบทเรียนวันละเล็กวันละน้อยก็เป็นสิ่งสำคัญในวัยอนุบาลควรให้ลูกทบทวนวันละ 1 บทเรียนหรือ 1 วิชา เพื่อไม่ให้หนักมากจนเกินไป ส่วนวัยประถมควรหาเวลาอ่านหนังสือกับลูกวันละ 15-30 นาทีในช่วงเช้า เพราะช่วงเช้าสมองของลูกยังสดชื่นอยู่ ไม่เหนื่อยล้าเหมือนช่วงเย็นหรือช่วงค่ำที่เหน็ดเหนื่อยจากการเรียนมาทั้งวัน
ด้านความรับผิดชอบ
เด็กอนุบาล : ฝึกระเบียบการดูแลตนเองในชีวิตประจำวันอย่างง่ายๆ ก่อน
เด็กประถม : ให้ลูกช่วยเหลือตนเองด้านต่างๆ และแบ่งให้รับผิดชอบงานบ้านบ้าง
คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ทั้งลูกวัยอนุบาลและลูกวัยประถมมีความรับผิดชอบแต่วัยอนุบาลอาจจะให้รับผิดชอบเรื่องส่วนตัวเองก่อน เช่น การอาบน้ำ แปรงฟัน เก็บของเล่น ส่วนลูกวัยประถมควรฝึกให้รับผิดชอบทั้งเรื่องส่วนตัว และรับผิดชอบงานส่วนรวมบางส่วน เช่น งานบ้าน งานส่วนรวมในห้องเรียน เป็นต้น ฝึกให้เด็กช่วยตัวเองมากที่สุด เช่น อาบน้ำแต่งตัว กินอาหาร จัดกระเป๋านักเรียน การฝึกอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นพื้นฐานการสร้างวินัยในตนเอง จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบในหน้าที่ เป็นการฝึกบริหารเวลาและชีวิต ฝึกทักษะการแก้ปัญหาง่ายๆ ให้กับตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก
ไม่ว่าจะวัยไหนๆ เด็กก็ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ในทุกๆ ด้าน ให้เด็กได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนและเพียงพอเพื่อสมองจะได้เจริญเต็มที่ ดูแลให้ลูกได้นอนหลับพักผ่อน ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรมีความเข้าใจกันซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นมั่นคงภายในบ้าน แสดงความรักความเอาใจใส่ ความห่วงใยในตัว ลูกให้ลูกได้รับรู้อยู่เสมอจะช่วยให้เด็กเติบโตมีอารมณ์มั่นคง เข้ากับคนอื่นในสังคมได้อย่างดี
ที่มา :