การพูดและภาษาของลูก ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญอย่างมาก บางครั้งการสื่อสารของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่ยังไม่มีความสามารถที่จะสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ เราก็มักจะได้ยินเสียงร้องเรียก หรือเสียงงอแงต่างๆ เมื่อเขาแสดงออกถึงความต้องการบางอย่าง
วันนี้ ทาง Parentsone จึงนำข้อมูลเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้สังเกตพฤติกรรมและการสื่อสารของลูกน้อยในแต่ละวัยกันว่า ที่เด็กๆ ร้องอ้อแอ้ ต่างๆ เขาต้องการ หรืออยากจะสื่อสารอะไรกับคุณพ่อคุณแม่บ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
พัฒนาการทางภาษาและการพูดของเด็กๆ เกิดจากการเรียนรู้ ซึ่งเด็กๆ จะมีพัฒนาการที่ช้าหรือเร็วนั้น ก็ขึ้นอยู่กับอายุและวัยของเขา
ในช่วงอายุระหว่าง 2-5 ปี เป็นช่วงที่เรียกได้ว่ามีการพัฒนาด้านภาษา มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ มีการเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ จากสิ่งรอบตัว และการใช้คำพูดนั้นเอง ซึ่งการพัฒนาด้านการรับรู้และภาษานั้นก็เกิดจากการที่เด็กๆ รู้จักเชื่อมโยงเสียงต่างๆ ที่ได้ยินกับสิ่งที่เด็กๆ มองเห็นและสัมผัสได้ และเมื่อได้ยินซ้ำๆ อีก เด็กก็จะจำได้ว่าสิ่งเหล่านั้นคือเสียงอะไรและเกิดความจำทำให้เด็กๆ เข้าใจและพูดอย่างถูกความหมายได้นั้นเองค่ะ
ซึ่งแต่ละวัยจะมีการพัฒนาด้านภาษา ดังภาพต่อไปนี้ค่ะ
เด็กอายุ 1 เดือน
ความเข้าใจภาษา : เด็กๆ จะตอบสนองต่อเสียงดังๆ เช่น สะดุ้ง ขยับตัว
การแสดงออกทางภาษา : เด็กๆ จะส่งเสียงร้องเมื่อรู้สึกหิว หรือไม่สบายตัว
เด็กอายุ 2-3 เดือน
ความเข้าใจภาษา : เด็กๆ มีความสนใจเสียงพูดของคน มีการเคลื่อนไหวตัวเมื่อได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่ เด็กๆ จะยิ้มและนิ่งฟัง
การแสดงออกทางภาษา : เด็กๆ จะทำเสียงอ้อแอ้ (Babbling) เมื่อเขารู้สึกพอใจ/ไม่พอใจ
เด็กอายุ 5-6 เดือน
ความเข้าใจภาษา : เด็กๆ สามารถแยกทิศทางของเสียง เขาสามารถหันศีรษะไปตามเสียงที่เรียกหรือเสียงดังต่างๆ ได้
การแสดงออกทางภาษา : เด็กๆ เริ่มมีการเล่นเสียง (vocal play) เช่น มามา ดาดา ซึ่งอาจจะไม่มีความหมายใดๆ แต่เป็นการเรียกร้องความสนใจ และบอกความต้องการบางอย่างนั้นเอง อีกทั้ง ยังสามารถเลียนเสียงตัวเอง มีการเปล่งเสียงสูงๆ ต่ำๆ ได้
เด็กอายุ 9 เดือน
ความเข้าใจภาษา : เด็กๆ สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ เช่น สวัสดี บ๊ายบาย หรือบางครั้งเมื่อคุณพ่อคุณแม่บอกให้เขาหยุดเล่น เขาก็จะหยุดเล่นเมื่อถูกดุหรือเมื่อคุณพ่อคุณแม่บอกว่า “อย่านะ”
การแสดงออกทางภาษา : เด็กๆ เริ่มพูดตาม และเลียนเสียงของคนอื่น มีการทำเสียงต่างๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ เด็กๆ จะพูดเป็นคำๆ เดียว และสามารถตอบสนองต่อการสื่อสารได้
เด็กอายุ 10-12 เดือน
ความเข้าใจภาษา : เด็กๆ สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้มากขึ้น สามารถเข้าใจคำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ เขาสามารถหันไปหาเมื่อมีคนเรียกชื่อได้ และเข้าใจคำศัพท์ประมาณ 10 คำ
การแสดงออกทางภาษา : เด็กๆ เริ่มพูดคำแรกที่มีความหมาย เช่นคำว่า “หม่ำ” , “แม่” แถมยังตอบคำถามด้วยการใช้ท่าทางร่วมกับเสียงได้ นอกจากนี้ยังสามารถเรียกคนอื่นๆ หรือวัตถุที่ต้องการจากท่าทางและเสียงของเขาค่ะ
เด็กอายุ 1.6 ปี
ความเข้าใจภาษา : เด็กๆ สามารถทำตามคำสั่งที่ยากขึ้น เข้าใจคำห้ามง่ายๆ ได้ สามารถชี้อวัยวะของร่างกายได้ 1-3 อย่าง และรู้จักชื่อคน สิ่งของ และสัตว์ประมาณ 100 คำ
การแสดงออกทางภาษา : เด็กๆ สามารถพูดเป็นคำที่มีความหมายได้ ประมาณ 10-50 คำ (ส่วนใหญ่จะเป็นคำ 1 พยางค์) เริ่มนำคำ 2 พยางค์มารวมกัน และบอกความต้องการง่ายๆ ได้ เช่น “เอา” , “ไป” , “หม่ำ” เป็นต้น
เด็กอายุ 2-2.6 ปี
ความเข้าใจภาษา : เด็กๆ รู้จักและเข้าใจคำศัพท์ได้ถึง 500 คำ สามารถทำตามคำสั่งที่มี 2 ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกันได้ เด็กๆ สามารถรู้ชื่อคนในครอบครัว รู้จักหน้าที่ของสิ่งของนั้นๆ ว่าใช้ทำอะไร เขาสามารถเข้าใจประโยคคำถามหรือคำสั่งสั้นๆ ไม่ซับซ้อน เช่น “นี่อะไร” , “แม่อยู่ไหน” เป็นต้น
การแสดงออกทางภาษา : เด็กๆ สามารถพูดประโยคสั้นๆ 2-3 พยางค์ได้ พูดคำศัพท์ได้ถึง 50-500 คำ อีกทั้งยังสามารถพูดโต้ตอบกับเราได้ บอกชื่อเล่นของตัวเองได้ และมักจะมีคำติดปากว่า “นี่อะไร” สามารถสื่อความต้องการได้ แต่ยังเรียงคำไม่ถูกต้อง มีการใช้คำว่า “และ” ในการเชื่อมประโยค
เด็กอายุ 2.6-3 ปี
ความเข้าใจภาษา : เด็กๆ เข้าใจคำศัพท์มากขึ้นถึง 500-1,200 คำ สามารถทำตามคำสั่งที่ยากขึ้นได้ และแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นอันใหญ่และอันเล็ก
การแสดงออกทางภาษา : เด็กๆ สามารถพูดประโยคยาวขึ้น มีคำศัพท์ที่ดูได้ราวๆ 900 คำ สามารถพูดเล่าเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังบอกชื่อและหน้าที่ของวัตถุสิ่งของนั้นได้ มักจะตอบคำถามว่า “ใคร” , “อะไร” และยังบอกได้เมื่อต้องการที่จะเข้าห้องน้ำนั้นเอง
เด็กอายุ 3-4 ปี
ความเข้าใจภาษา : เด็กๆ เข้าใจคำศัพท์มากขึ้นถึง 2,400-3,600 คำ มีการเรียนรู้การเข้าสังคมด้วยการพูด เข้าใจคำบุพบท เช่น บน ใต้ ข้างบน ข้างล่าง สามารถเข้าใจคำสั่งที่เป็นประโยคยาวๆ ได้ เช่น กินข้าวเสร็จก่อนแล้วดูการ์ตูนได้นะคะ และเข้าใจคำวิเศษณ์ อย่างเช่น คำว่า “เก่ง” , “สวย” , “ใหญ่” , “เล็ก” เป็นต้น
การแสดงออกทางภาษา : เด็กๆ สามารถพูดคุยและตอบได้มากขึ้น สามารถสนทนาเป็นประโยคยาวๆ 3-4 คำได้ แต่ยังพูดไม่ชัดเท่าไหร่ สามารถพูดคำศัพท์ได้ราวๆ 900-1,500 คำ มีการเล่าเรื่องแบบถามคำตอบคำได้ มักจะถามเสมอว่า “อะไร” , “ที่ไหน” , “ใคร” เป็นต้น นอกจากนี้ยังพูดเสียงสระได้ชัดทุกเสียงอีกด้วยค่ะ
เด็กอายุ 4-5 ปี
ความเข้าใจภาษา : เด็กๆ เข้าใจคำศัพท์ 3,600-5,600 คำ สามารถเข้าใจประโยคที่มีคำสั่ง 2-3 ขั้นตอนได้ มีการเข้าใจรูปประโยคที่เป็นเหตุเป็นผลกันได้ อีกทั้งยังเข้าใจความหมายของจำนวนนัดได้ไม่ต่ำกว่าจำนวน 3 อย่าง เช่น “หยิบเสื้อ 3 ตัว” เป็นต้น
การแสดงออกทางภาษา : เด็กๆ สามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ดี มีการขยายคำได้มากขึ้น พูดคำศัพท์ได้ประมาณ 2,000 คำ มีการพูดประโยคที่ยาวคล้ายกับผู้ใหญ่ สามารถบอกชื่อจริงของตัวเองได้ และเล่าเรื่องได้โดยมีเนื้อหาที่ต่อเนื่องกัน สามารถตอบคำถามจากเรื่องที่ฟังหรือดูได้ และเขามักจะชอบถาม “ทำไม” , “เมื่อไหร่” , “อย่างไร” เป็นคำติดปากนั้นเองค่ะ
เด็กอายุ 5-6 ปี
ความเข้าใจภาษา : เด็กๆ เข้าใจคำศัพท์ 6,500-9,500 คำ สามารถเข้าใจลำดับเกี่ยวกับเวลาก่อนและหลัง หรือเมื่อวานนี้ได้ สามารถท่องพยัญชนะได้ เริ่มรู้จักความหมายของป้ายหรือสัญลักษณ์ที่พบเห็นได้ค่ะ
การแสดงออกทางภาษา : เด็กๆ สามารถเล่าเรื่องที่คุ้นเคย หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้อื่นได้ สามารถเล่าเรื่องลำดับเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ มีการใช้ไวยากรณ์ที่ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่อีกด้วยนะคะ
เด็กอายุ 6 ปี
ความเข้าใจภาษา : เด็กๆ เข้าใจคำศัพท์ 13,500-15,000 คำ สามารถเข้าใจว่าสิ่งของมีคุณลักษณะเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร เช่นปากกากับดินสอ หรือหมากับแมว ต่างกันอย่างไร
การแสดงออกทางภาษา : เด็กๆ สามารถพูดประโยคยาวๆ 6-8 คำ ได้ มีการใช้คำเปรียบเทียบ ขนาด รูปร่าง และลักษณะนั้นเองค่ะ
เสียงพยัญชนะที่เด็กๆ พูดชัดในแต่ละวัย
ขอบคุณข้อมูลจาก : พิชย์ยุทธ์ สุนทรภิรพงศ์ (นักเวชศาสตร์การสื่อความหมายปฏิบัติการ สถายันราชานุกูล)