“ฟันผุ” เป็นอาการที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนอาจจะนึกว่าเป็นเพียงความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ในช่องปากที่เด็กต้องเป็นกันอยู่แล้ว ดูแลรักษาเดี๋ยวก็หายไม่มีผลอะไรเท่าไหร่ แต่รู้มั้ยคะว่าอันตรายจากการที่ลูก “ฟันผุ” มีมากกว่าที่คิด โทษของฟันผุจะมีอะไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
1. เกิดปัญหาฟันแท้ผุตามมา
เมื่อลูกมีฟันน้ำนมที่ผุ มักจะมีแนวโน้มที่ฟันถาวรจะมีการผุตามไปด้วย ดังนั้น หากปล่อยให้ลูกฟันน้ำนมผุอาจจะสายไป คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ คือดูแลสุขภาพช่องปากของลูกให้สะอาดอยู่เสมอ
2. ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูก
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองปล่อยให้ลูกฟันผุ เด็กจะมีอาการปวดฟันตามมาและอาจเกิดความเจ็บปวดมาก จนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ บางคนอาจถึงขั้นขาดสารอาหารส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูก
3. มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
จากการศึกษาพบว่า โรคหัวใจในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคเหงือกและฟันมีมากกว่าผู้คนที่สุขภาพดี 25-50% โดยปัญหาฟันผุเป็นสาเหตุที่ทำให้ภายในร่างกายเกิดการอักเสบ เป็นตัวเร่งขั้นตอนการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง ทำให้เลือดไหลเวียนเข้าหัวใจได้น้อยลง เสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลว
4. เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
ฟันผุในเด็กเล็กสามารถลุกลามทะลุโพรงรากฟัน ซึ่งความรุนแรงเกิดจากหลายปัจจัย เช่น เด็กมีภูมิต้านทานต่ำ จะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย มีกรณีฟันผุจนเบ้าตาบวมแดง เนื่องจากช่องปากใกล้ตามาก เชื้ออาจขึ้นสมองก็เป็นไปได้ หากเข้ากระแสเลือดเสี่ยงอันตรายถึงเสียชีวิตได้
5. ปัญหาสุขภาพที่นำไปสู่โรคอ้วน
ปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างโรคฟันผุ มีผลให้ร่างกายไวต่อไขมันมากกว่าปกติ และอาจนำไปสู่โรคอ้วน
6. ลูกไม่มีความมั่นใจ มีปัญหาการเข้าสังคม
โรคฟันผุในเด็ก อาจส่งผลในด้านจิตใจและอารมณ์ หากเด็กฟันผุมาก ต้องถูกถอนฟัน ทำให้ฟันแท้ขึ้นช้า เกิดปัญหาฟันซ้อนเกและถ้าหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ลูกอาจต้องสูญเสียฟัน ทำให้ฟันหลออาจถูกเพื่อนล้อเลียนส่งผลต่อการเข้าสังคมของลูกได้ค่ะ
การดูแลช่องปากของลูกให้มีสุขภาพดี
- ในเด็กทารก หลังจากการดูดนมแนะนำให้มีการดูดนํ้าตามเพื่อทำความสะอาดคราบนํ้าตาลที่ติดตามฟัน เพราะนํ้าตาลในนมสามารถทำให้เกิดฟันผุได้
- เด็กในวัยเรียนก็มักจะชอบรับประทานขนมหวาน ลูกอม ขนมขบเคี้ยว สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เกิดฟันผุ ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยให้แปรงฟัน ทำความสะอาดช่องปากหลังทานขนมหรืออาหาร
- สำหรับช่วงวัยรุ่นพอเติบโตขึ้นการทานขนมลดลง ฟันผุก็ลดลงกว่าวัยเด็ก แต่ก็ควรดูแลสุภาพช่องปากให้ลูกอยู่เสมอ
- หมั่นตรวจเช็คสุขภาพฟันและพาลูกไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อสุขภาพฟันที่ดี จะได้มีฟันไว้ใช้งานได้นานๆ ค่ะ
ที่มา – med.mahidol, thaihealth, thairath