ลงไปดิ้นกับพื้น อาละวาดโวยวาย ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เชื่อว่าสถานการณ์เหล่านี้เป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคุ้นเคย เคยสงสัยกันไหมคะว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมแก้วตาดวงใจจึงกลับกลายเป็น “พระอาทิตย์” ศูนย์กลางจักรวาลที่ใครต่อใครก็ต้องโคจรอยู่รอบๆ เพื่อคอยเอาใจไปซะได้
ความจริงแล้ว พฤติกรรมการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมีคำอธิบาย ! วันนี้ทาง Parents One อยากจะพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักโลกทั้งใบในสายตาของ “หนูน้อยพระอาทิตย์” ให้มากขึ้น พร้อมทั้งแบ่งปันเทคนิคที่จะช่วยเจ้าตัวน้อยลดการยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางลง ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยค่ะ
ทำความเข้าใจโลกกลมๆ ในสายตา “หนูน้อยพระอาทิตย์”
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า เด็กวัย 2-7 ปี อยู่ในขั้นปฏิบัติการคิด (Preoperational Stage) แบ่งออกเป็นอีก 2 ขั้นย่อย คือ ขั้นก่อนเกิดสังกัป (Preconceptual Thought) และขั้นการคิดแบบญาณหยั่งรู้ นึกออกเองโดยไม่ใช้เหตุผล (Intuitive Thought) โดยในวัย 2-4 ปี จะอยู่ในขั้นก่อนเกิดสังกัป
ในพัฒนาการทางสติปัญญาขั้นนี้ จะเป็นช่วงที่เด็กจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentrism) ยึดความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของตัวเองเป็นหลัก ไม่เข้าใจว่าคนเราสามารถคิดหรือรู้สึกแตกต่างกันได้ ถ้าเห็นอะไรก็จะเข้าใจว่าคนอื่นเห็นเหมือนกัน ถ้าชอบอะไร ก็จะเข้าใจว่าคนอื่นก็ชอบเช่นเดียวกัน เป็นช่วงที่ยังเห็นแค่ตัวเอง มีแค่ตัวเองเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น “การเล่นซ่อนหา” เคยสังเกตกันไหมคะ เวลาที่เล่นซ่อนหากับเจ้าตัวน้อยจะซ่อนแบบง่ายๆ ให้เราหาเจอได้ทุกครั้ง เช่น ยืนปิดตา นำผ้าห่มมาคลุมโปง พฤติกรรมแบบนี้มีที่มาจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเช่นเดียวกัน เด็กในวัยนี้เข้าใจว่าหากเขามองไม่เห็นเรา เราก็จะมองไม่เห็นเขาไปด้วย
โดยเด็กที่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจะมีลักษณะ ดังนี้
- เล่าเรื่องของตัวเองให้เพื่อนฟังในลักษณะที่เหมือนพูดคุยกันแต่ต่างคนต่างเล่า ไม่สนใจว่าคนอื่นเล่าเรื่องอะไร
- โอ้อวดว่าตัวเองเก่งที่สุด ดีที่สุด
- พยายามเอาชนะพ่อแม่เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
- ยิ่งห้ามยิ่งทำ ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับพ่อแม่บอกให้ทำ
- ร้องไห้ งอแง อาละวาด ทำลายข้าวของ
- ไม่แบ่งปัน หวงของ
- โทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว เช่น พ่อแม่ทะเลาะกันเพราะตัวเองเป็นต้นเหตุ
เพราะฉะนั้น การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางเป็น “เรื่องปกติ” ของเด็กทุกคน ซึ่งจะค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุ 5-7 ปี แต่ถ้าโตขึ้นแล้วยังคงมีลักษณะที่ถือตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่ จะทำให้มีอุปสรรคต่อพัฒนาการและการเรียนรู้
5 เทคนิคปรับพฤติกรรมหนูน้อยพระอาทิตย์
- ตั้งใจรับฟัง :
วิธีนี้เป็นวิธีที่จะสามารถเข้าใจลูกได้ง่ายขึ้น ตั้งใจรับฟังให้ดีว่าลูกกำลังพูดอะไร ก็จะเข้าใจได้ว่าเขากำลังคิดอะไร รู้สึกอะไรอยู่ ทำไมจึงคิดหรือทำเช่นนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการหาวิธีการรับมือให้ถูกจุด
- สอนด้วยเหตุและผล :
เด็กในวัยนี้สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ได้แล้ว ในการสอนว่าให้ทำหรือไม่ทำอะไร ไม่ควรบอกแค่ว่าทำอย่างนี้ดี ทำอย่างนี้ไม่ดีนะ แต่ควรอธิบายเหตุผล และยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน เช่น ลูกไม่ควรจะแย่งของเล่นจากมือเพื่อน เพราะเพื่อนกำลังเล่นอยู่ หากอยากเล่นด้วยต้องขออนุญาตดีๆ แย่งมาแบบนี้ เพื่อนจะเสียใจ
- พูดคุยเรื่องชีวิตประจำวัน :
ชวนลูกคุยเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยเน้นถามถึงบุคคลแวดล้อมต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การถามเกี่ยวกับเพื่อน เกี่ยวกับคุณครู ให้ลูกลดการพูดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเองลงและนึกถึงคนอื่นๆ มากขึ้น
- พาลูกเข้าสังคม :
เด็กในวัย 7 ปีจะเริ่มอยากเข้าสังคม จากเล่นคนเดียวก็จะอยากเล่นกับคนอื่นๆ บ้าง การได้พบปะพูดคุย ใช้เวลากับคนอื่นๆ จะทำให้ลูกเรียนรู้โลกได้กว้างขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสพาลูกพบครอบครัวใหญ่ เยี่ยมญาติ หรือพาลูกไปเล่นกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้กติกาของสังคม เห็นความเป็นจริงของโลก และทำความเข้าใจได้ว่าตัวเขาไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกที่กว้างใหญ่ และแต่ละคนมีความคิด ความชอบที่แตกต่างกันได้ ไม่ใช่เรื่องผิด
ทั้งนี้ต้องไม่กดดันหรือบังคับให้เด็กๆ นะคะ ควรใช้วีธีเชิญชวน ใช้คำพูดเชิญบวก เช่นบอกกับลูกว่า “ถ้าหนูอยากเล่นกับคนอื่นก็ได้นะ” จะให้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่า
- เปิดโลกกว้างด้วยนิทาน :
นี่คือวิธีใช้ลักษณะการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางให้เป็นประโยชน์! เด็กเล็กจะเข้าใจว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวต่างๆ เวลาฟังนิทานจะรู้สึกราวกับว่าตัวเองเป็นตัวละครในนิทานเรื่องนั้น
การเล่านิทานจึงเป็นวิธีสอนที่สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยที่สุด ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องยากๆ ได้ง่ายขึ้นโดยไม่รู้ตัว โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเลือกนิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับน้ำใจ การแบ่งปัน หรือการช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะช่วยลดการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล เรียนรู้ และซึมซับพฤติกรรมทางสังคมที่ดีจากตัวละคร
การยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามวัย และเด็กแต่ละคนมีช่วงเวลาเติบโตที่แตกต่างกัน บางคนลดความเป็นศูนย์กลางของตัวเองได้เร็ว บางคนก็ลดได้ช้า สิ่งสำคัญที่สุดคือความเข้าใจ คอยประคับประคอง ชี้แนะแนวทางที่ดี เพื่อให้พระอาทิตย์ที่เคยส่องแสงรุนแรงแผดเผาสิ่งรอบตัว กลายเป็นหนูน้อยพระอาทิตย์ยิ้มกว้างสดใสที่ไปไหนใครก็รักก็เอ็นดู และอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ในจักรวาลกว้างใหญ่นี้อย่างมีความสุข
ขอบคุณข้อมูลจาก