แม่รักลูกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ลูกจะปาของทุกวี่ทุกวันแบบนี้คุณแม่เองก็เหนื่อยใจมิใช่น้อยเหมือนกัน เพราะเด็กวัยนี้เริ่มใช้มือคล่องขึ้นแล้วเลยอยากเขวี้ยงปาของเล่นซะอย่างนั้น จะมีวิธีรับมืออย่างไรปับปัญหานี้บ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ
หาสาเหตุที่ลูกปาของ
การที่ลูกปาของนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทักษะมือของเด็กเอง อยากรู้ว่าใช้มือได้ดีจริงๆ ไหม อยากปลดปล่อยพลังงานที่มีอย่างล้นเหลือ หรือสาเหตุอื่นๆ ก็ตาม ซึ่งแต่ละสาเหตุก็จะมีวิธีแก้ที่แตกต่างกันออกไป คุณแม่ควรหาสาเหตุที่ลูกชอบปาของให้ได้แล้วจะสามารถวิเคราะห์หาทางแก้ได้ง่ายยิ่งขึ้นค่ะ
ชวนลูกทำกิจกรรมสร้างสรรค์
เมื่อมือของลูกน้อยชอบปาของนัก อย่าปล่อยให้ลูกมือว่างเลยค่ะ มาช่วนลูกทำกิจกรรมสร้างสรรค์ฝึกมือกันดีกว่า เช่น พับกระดาษ วาดรูป ปั้นแป้งโดว์ เป็นต้น นอกจากเป็นการฝึกทักษะการใช้มือแล้ว กิจกรรมแสนสนุกเหล่านี้ยังเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการผาของอีกด้วยค่ะ
ชมเมื่อลูกทำดี
เมื่อลูกเริ่มทำความดีหรือทำกิจกรรมสร้างสรรค์แล้ว คุณแม่ควรตอบสนองกับสิ่งที่ลูกทำไปในทางที่ดี ทั้งการชื่นชม รอยยิ้ม สวมกอด หรือวิธีไหนก็สามารถทำได้หมด ลูกจะได้มีกำลังใจในการทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ และค่อยๆ ลืมไปว่าเคยชอบปาของค่ะ
ชัดเจนว่าไม่ให้ลูกปาของเพราะอะไร
คุณแม่จะต้องชัดเจนว่าจะให้ทำหรือไม่ให้ทำอะไรและหาก ไม่ให้ทำ แล้วอะไรที่จะทำแทนได้ เช่น บนโต๊ะอาหารถ้าลูกปาของกินเล่นควรตักเตือนก่อน หากลูกไม่สนใจยังปาอาหารอีก คุณแม่ต้องหนักแน่น จับมือลูก บอกลูกอย่างจริงจังแต่ไม่ดุว่า “ไม่ปาอาหารเล่นนะลูก” พร้อมทั้งชื่นชมเมื่อลูกหยุด เช่น “ดีมากจ้ะ ที่ลูกเชื่อฟังแม่” พร้อมทั้งชวนลูกใช้มือตักอาหารตรงหน้าแทน เป็นต้น
หมั่นสอนพฤติกรรมที่เหมาะสม
การสอนลูกนั้นสามารถสอนได้ทั้งตอนที่เหตุการณ์เขวี้ยงปาของยังไม่เกิดขึ้นหรือสอนเมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นสงบลงแล้ว ด้วยท่าทีแสดงออกที่ชัดเจนทั้งสีหน้า แววตา และท่าทางที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้คุณแม่ควรหมั่นสอนลูก เพราะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใดก็ตามจำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ติดต่อกันไประยะเวลานานลูกจะได้จำได้และทำตามที่คุณแม่สอนค่ะ
อดทนกับการรับมือ
แน่นอนว่าพฤติกรรมดังกล่าวนั้นจะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับนานพอสมควร ถึงจะสั่งสมนิสัยใหม่ได้ ดังนั้นจุดนี้คุณแม่ควรอดทนและใจเย็นกับการปรับพฤติกรรมลูก แม้ว่าลูกอาจไม่ได้ดั่งใจ เผลอปาของไปบ้าง ก็อย่าเพิ่งไปดุหรือเหวี่ยงลูก คอยรับมือด้วยความใจเย็นค่ะ
ท่าทาง แววตา และคำพูด ควรสอดคล้องกัน
หลายครั้งที่คุณแม่เอ่ยปากห้ามแต่หน้ายังยิ้มอยู่ เช่นบอกไม่เอานะ แต่เราก็ให้โอกาสลูกปาของ จะทำให้ลูกสับสนในความหมายที่คุณแม่พูดกับลูกได้ ลูกจะมองเห็นทั้งสีหน้าท่าทาง แววตาของผู้ใหญ่นั้น ส่วนมากจะเลือกตอบสนองต่อท่าทีที่ลูกเห็นมากกว่าคำพูดค่ะ ดังนั้นการกระทำและคำพูดทุกอย่างควรสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันนี้นะคะ
และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีแก้ปัญกาเมื่อลูกปาของหรือทำพฤติกรรมไม่ดีนะคะ ถ้าคุณแม่ท่านไหนมีวิธีรับมือกับพฤติกรรมนี้สามารถแชร์กันได้เลยค่ะ
ที่มา