โรคภูมิแพ้ คือโรคยอดฮิตที่เกิดกับเด็ก ซึ่งสาเหตุหลักๆ เกิดขึ้นจาก “ไรฝุ่น” ที่อาศัยอยู่ร่วมกับเตียงนอนของเรา ถึงแม้ไรฝุ่นจะเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก แต่มันก็สร้างปัญหาด้านสุขภาพได้ไม่น้อยเลย วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับไรฝุ่น รวมไปถึงวิธีการกำจัดไรฝุ่นมาฝากค่ะ
ไรฝุ่นคืออะไร ?
ไรฝุ่นคือแมลงที่มีขนาดเล็กมากๆ เล็กจนตาเปล่ามองไม่เห็น ถ้าเทียบขนาดของไรฝุ่นก็จะเล็กกว่ารอยปากกาที่จุดบนกระดาษเสียอีก ไรฝุ่นมี 8 ขา ไม่มีตา ตัวมีลักษณะกลมรี และสีขาวขุ่น เมื่อโตเต็มวัยจะ วางไข่คราวละ 20 – 50 ฟอง 3 สัปดาห์/ครั้ง ระยะฟักตัว 8 – 12 วัน แต่ละตัวมีอายุ 2 – 4 เดือน
ไรฝุ่นไม่กัดแต่มันกินเศษผิวหนังและรังแคของคนและสัตว์เลี้ยงที่หลุดลอกออกมา ซึ่งทำให้มันเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ เศษหนังกำพร้าของคน 1 กรัม เป็นอาหารให้ไรฝุ่น 1 ล้านตัวมีชีวิตได้นาน 1 สัปดาห์ โดยทั่วไปคนเราจะมีผิวหนังหลุดลอกประมาณ 1.5 กรัมต่อวัน ซึ่งนั่นทำให้ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ เลย
ไรฝุ่นอยู่ที่ไหน ?
ไรฝุ่นชอบอยู่ในที่อุ่น ชื้นและเต็มไปด้วยฝุ่นละออง และไม่ชอบแสงสว่างจึงมักพบได้ทั่วไปในบ้านในที่ที่มีฝุ่นเยอะๆ โดยเฉพาะบนที่นอนของเรา ไม่ว่าจะเป็น ฟูกนอน ผ้าปูเตียง หมอน ผ้าห่ม ตุ๊กตา รวมไปถึงพรมปูพื้น เพราะเป็นสถานที่ที่เซลล์ของเรามักหลุดลอกไปเป็นอาหารให้ไรฝุ่นได้มากที่สุด
แพ้ไรฝุ่นเกิดจากอะไร ?
คนที่แพ้ไรฝุ่นเกิดจากการแพ้โปรตีนที่เป็นของเสียจากไรฝุ่น ทั้งมูลและซากที่ตายแล้ว ซึ่งสามารถฟุ้งกระจายได้ง่าย และจะลอยเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเรา ในขณะนอนหลับ และเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารแปลกปลอมใด ๆ ที่ผ่านเข้าไปด้วยการผลิตสารภูมิต้านทาน (Antibody) โดยเฉพาะขึ้นมาและจดจำว่าสารดังกล่าวเป็นสารก่อภูมิแพ้ และเมื่อเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ ในครั้งต่อไปก็จะปล่อยสารฮีสทามีนที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ต่าง ๆ ตามมา
อาการแพ้ไรฝุ่นเป็นอย่างไร ?
- จาม
- น้ำมูกไหล คัดจมูก หรือคันจมูก
- มีเสมหะ ไอ ระคายเคืองในลำคอ
- คันตา น้ำตาไหล หรือตาแดง
- คันที่ผิวหนัง
- ใต้ดวงตาบวมช้ำ
- อาการในเด็กอาจทำให้เจ้าตัวถูจมูกบ่อย ๆ เนื่องจากเกิดความระคายเคือง
ซึ่งอาการแพ้ไรฝุ่น อาจจะส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ดังนี้
- โรคภูมิแพ้
- โรคทางเดินหายใจอักเสบตลอดปี
- โรคตาอักเสบ (ตาระคายเคือง)
- โรคจมูกอักเสบ (น้ำมูกไหลและมีการจาม)
- โรคหอบหืด (ไอและมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ) , โรคหอบหืดในระยะต่อไป
- โรคผิวหนังอักเสบ (ปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น มีผื่นแดงและคัน)
- โรคปวดศีรษะ
- โรคผื่นคัน
วิธีการกำจัดไรฝุ่น
- เปลี่ยนผ้าปูที่นอนทุกๆ 2-4 สัปดาห์ โดยนำผ้าปูที่นอนและผ้าห่มซักด้วยน้ำร้อน อุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส
- ใช้ผ้าปูที่นอนและปอกหมอนกันไรฝุ่น ซึ่งเป็นผ้าที่ทออย่างแน่นหนา ซึ่งป้องกันไรฝุ่นเข้ามาอยู่อาศัย รวมทั้งยังกันไรฝุ่นที่มีอยู่ตามที่นอนอยู่แล้วไม่ให้ออกมา
- ใช้เครื่องนอนที่ทำจากใยสังเคราะห์ เช่น ผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าห่มหรือผ้าปูที่นอนที่จะมีไรฝุ่นเกาะง่ายและยากต่อการทำความสะอาด เช่น ผ้านวม ผ้าที่ทำจากขนสัตว์
- ควรระบายอากาศในห้องนอนเพื่อลดความชื้น
- หากมีตุ๊กตาบนที่นอน ควรเป็นตุ๊กตาที่ทำความสะอาดได้ และซักบ่อยๆ
- การทำความสะอาดพื้นด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำถูพื้นจะช่วยลดจำนวนไรฝุ่นได้มาก ไม่ควรทำความสะอาดโดยการกวาดอย่างเดียวหรือใช้ผ้าแห้งเพราะอาจทำให้ไรฝุ่นฟุ้งขึ้นมาได้
- จัดระเบียบบ้านให้เรียบร้อย โดยเฉพาะในห้องนอน ไม่ควรมีของประดับตกแต่งมากเกินไป เพราะฝุ่นจะมาเกาะได้ อีกทั้งควรทำความสะอาดเป็นประจำ เพราะในเวลากลางคืนเรามักสูดดมไรฝุ่นเข้าไปในขณะที่นอนหลับ
ขอบคุณข้อมูลจาก