หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของ วิชัย มาตกุล ในฐานะนักเขียนสุดกวนที่มีผลงานสนุกๆ หลายเล่ม หนึ่งในนั้นก็คือ “Don’t Worry, Be Daddy” หนังสือแชร์ประสบการณ์การมีลูกเมื่อหลายปีก่อน ที่ทั้งโหด มัน ฮา ด้วยภาษาของพี่วิชัย แต่ก็แฝงไปด้วยความอบอุ่น ในปัจจุบันพี่วิชัยเป็นคุณพ่อของ “ไทธรรม์” ลูกชายวัย 4 ขวบ เราลองมาอ่านแนวคิดการเลี้ยงลูกของเขากันค่ะ
ความรู้สึกแรกของการเป็นคุณพ่อ
จริงๆ เราเห็นลูกครั้งแรกก็ไม่มีความรู้สึกแบบ โห…ลูกของเรา หรือไม่ได้มีความรู้สึกแบบ คิดถึงพ่ออะไรแบบนั้น แค่รู้สึกว่าเราก็ไม่ใช่ลูกที่ดีของพ่อ เราสร้างเรื่องปวดหัวให้พ่อเยอะ เลยคิดว่านี่แหละรูปแบบกฎแห่งกรรมของชั้น (หัวเราะ) ซึ่งช่วงตอน 3 อาทิตย์แรกเป็นช่วงปรับตัว และสังเกตการณ์ว่าเราต้องทำแบบไหน
ซึ่งชีวืตก็เปลี่ยนไปเยอะ เพราะนอนไม่พอแล้วก็ต้องใจเย็นให้มาก เรารู้สึกว่าคุณแม่ที่คลอดลูกมาวีคสองวีคแรก เขาจะรู้สึกว่ามัน out of control ไปหมด ทำให้เราต้องเก๊กเอาไว้หน่อย เพราะถ้าเราประสาทไปด้วยทุกอย่างจะเริ่มแย่กันไปใหญ่ เลยเป็นแบบเฮ้ย…ไม่เป็นไร มานี่เดี๋ยวเราอุ้มเอง
เปรียบเทียบความรู้สึกก่อนมีลูกกับหลังมีลูกเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง
เรารู้สึกว่าชีวิตก่อนการมีลูกมันคงเป็น Road trip คืออยากไปไหนก็ไป และชีวิตเราค่อนข้างที่จะตามใจตัวเอง ว่างคือเที่ยว อยากซื้ออะไรก็ซื้อ แต่พอมีลูกมันคงเป็นหนังแนว Coming of age* เพราะพอมีลูกๆ ก็เป็นศูนย์กลางจักรวาลไปแล้ว เพราะต้องตื่น นอน ตามเขา ถ้าลูกอนุญาตให้นอนเราถึงจะนอนได้
สำหรับทุกวันนี้เวลาไปเที่ยวไหนทำอะไรจะขึ้นอยู่กับลูก ไปเที่ยวตรงนี้ได้ไหม ไปกินข้าวร้านนั้นมีเก้าอี้ เมนู สำหรับเด็กไหม เรารู้สึกกว่าตัวเองไม่สำคัญขนาดนั้น แต่ลูกเราสำคัญกว่า
*หนังแนว Coming of Age คือ หนังที่เล่าเรื่องของการเติบโตของตัวละครในเรื่องไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเด็กเสมอไป
น้องไทธรรม์เป็นเด็กแบบไหน
เป็นเด็กที่ได้เลือกเองซะส่วนใหญ่ตั้งแต่เด็ก จะใส่เสื้อผ้าอะไรก็ให้เขาเลือกเอง อย่างวันนี้อยากใส่รองเท้าคู่ไหนก็ให้หยิบเอง เวลาไปซื้อของใช้ก็ให้เขาเลือกเองว่าอยากได้สีอะไร
บางทีมันก็มีความแอบสปอยล์เขานิดนหนึ่ง เพราะเขาได้เป็นเจ้าของการตัดสินใจ บางทีก็จะมีงอแง ดื้อบ้าง แต่ว่าพอเราพูดกับเขาแบบมีเหตุผล เขาก็จะเป็นคนมีเหตุผล ในตอนที่เขาอยากมีเหตุผลนะ (หัวเราะ) เช่น ถ้าเราไปซื้อของเล่นแล้วอันนี้มันแพง เราก็จะบอกเขาตรงๆ เลยว่า “อันนี้มันแพงนะ ปะป๊ามีเงินไม่พอ สิ้นเดือนมาซื้อได้ไหม” แล้วเขาก็ฟัง
ดูแลอะไรน้องเป็นพิเศษไหม
เราไม่ค่อยดูแลอะไรลูกเป็นพิเศษสักเท่าไหร่ แต่ถ้าอยู่ด้วยกันก็ให้เวลากับเขาให้มากหน่อย อย่างช่วงนี้เขาฮิตเข้าห้องนำ้ เพราะเพิ่งเข้าห้องนำ้เป็นเมื่อประมาณเดือนที่แล้ว เขาก็จะไม่เข้าห้องน้ำผู้หญิง เพราะคิดว่าการเข้าห้องผู้หญิงเป็นเรื่องของเด็กที่แม่ต้องพาเข้า แล้วเขาก็จะเข้าห้องน้ำผู้ชายเพราะแมนกว่า (หัวเราะ)
แต่เราบอกกับแฟนเราเสมอว่าเราจะรักษาสัญญากับลูกอย่างเคร่งครัดมากๆ เช่น ถ้าลูกดื้อกินข้าวช้า แล้วเราบอกว่าถ้ากินข้าวเสร็จจะพาไปกินไอติม Swensen’s แล้วก็ต้องพาไปกินจริงๆ นะ ซึ่งพอเราให้สัญญาเขาแบบฟิคมากๆ แล้วเราขอสัญญาจากลูก ลูกก็จะเคร่งครัดกับเรา
มีความเชื่อผิดๆ แบบไหนในการเลี้ยงลูกที่เจอมา
เราไม่ฟังเลยเพราะเรารู้สึกว่าการเลี้ยงลูกคือศาสนา แบบศาสนาใครก็ศาสนามัน แต่การเลี้ยงลูกเป้าหมายคือการให้ลูกเป็นคนดี แต่ว่าคุณจะเลี้ยงวิธีไหนก็เรื่องของคุณ เราไม่แบบ “ทำไมไม่เลี้ยงลูกแบบบ้านนี้ล่ะ” เพราะคนนั้นกับลูกเราก็คนละคนกัน แต่มันก็มีบางอย่างที่ฟังมาใช้แล้วก็เวิร์ค แล้วเราก็ใช้มันจริงๆ
แต่เราก็ดูก่อนว่ามันเข้ากับลูกเราไหม เช่น วิธีการลงโทษ แต่ฟังแล้วมันเวิร์ค เราใช้วิธีเข้ามุมไปเลย ประมาณ 3 นาที มันโครตเวิร์ค เช่น ไม่เก็บของแล้วชอบปาของ พอเตือนครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งวที่ 3 แล้วไม่ฟัง ก็เอาเข้ามุมเลย 3 นาที พอออกมาก็กลายเป็นคนละคนเลย เก็บทุกอย่าง ชี้นกเป็นก ชี้ไม้เป็นไม้ (หัวเราะ)
พัฒนาการไหนที่ว้าวสำหรับเรา
ว้าวสุดคือการที่ลูกหยุดทำอะไรบางอย่าง เราว้าวมากกว่าการที่ลูกทำอะไรได้ เช่น บอกว่าหยุดเล่นได้แล้วนะกลับบ้านได้แล้วนะ เราว้าวเวลาที่ลูกหยุดเล่นแล้วกลับจริง เพราะรู้สึกดีทุกครั้งที่ลูกมีความยับยั้งชั่งใจกับมัน มันยากสำหรับเด็กที่เขาชอบทำอะไรอยู่ แล้ว สอนให้เขาทำมันง่ายแต่สอนให้เลิกมันยาก
น้องมีพัฒนาการด้านการพูดช้าด้วย?
เครียดนะ เพราะว่าเด็กคนอื่นพูดได้แล้ว เราได้ยินเด็กที่อายุน้อยกว่าไทธรรม์พูดว่า “พ่อกางเกงในเข้าวินอะ” เราก็แบบ เฮ้ยย ไม่ได้พูดคำว่า “กางเกงใน” นะ แต่นี่มาเป็นสำนวนเลยอะ แต่ว่าเราทำใจแล้วว่าลูกเราคงจะพูดยากจริงๆ คิดว่ามาจากการที่เราให้อิสระลูกในการทำอะไร ไม่อะไร “เขาเลยเลือกที่จะไม่พูด” เพราะเขาคิดว่าการพูดมันไม่ใช่เรื่องสำคัญ
แล้วพอเขาเลือกที่จะไม่พูดมันก็ส่งผลที่จะส่งผลต่อพัฒนาการกล้ามเนื้อปาก เช่น ทำปากจู๋ ไม่ได้ แล้วพอทำปากจู๋ไม่ได้ สระอูทั้งหมดอย่าง ปู งู หนู ก็จะพูดไม่ได้ เรียกว่ามันเป็นโดมิโนไปเลย ก็หัดกันไปหลังๆ ก็ดีขึ้นเยอะมาก
พอมีลูกแล้วชอบเด็กขึ้นไหม
ก็ยังเกลียดเด็กเหมือนเดิม (หัวเราะ) เพราะเราว่าเด็กมันแก่นเซี้ยวอะ อย่างลูกเราเองมันก็มีตวามแสบเป็นของตัวเอง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือเรารู้สึกไม่ชอบพ่อแม่มากกว่าในการดีลกับเด็กด้วยที่วิธีที่ผิดไง อย่างแบบไปกินข้าวนอกบ้าน เราจะมีแบ่งหน้าที่กันเลย แล้วก็กินสลับกันไป ทำให้พอเราเจอพ่อแม่ที่ปล่อยให้ลูกโยเย เราก็เลยรู้สึกว่าก็อุ้มลูกอกไปสิ แต่อย่างที่ว่าคือเราไปบอกเขาไม่ได้
หรือเวลาที่ลูกร้องไห้โยเยอยู่ในที่สาธารณะ เราควรจะเดินหนี แล้วเดี๋ยวลูกจะรู้เองว่าที่เรียกร้องความสนใจไปไม่ได้ผล เราไม่ควรสปอยล์ เพราะเดี๋ยวเด็กรู้ว่าที่เขาทำแบบนั้นมันได้ผล ซึ่งเราเคยทำหลายครั้งจนไทธรรมรู้ แล้วเขาก็วิ่งตามมาเอง เเต่พอลูกร้องไห้จริงๆ แล้วเราไม่ไปช่วยลูก คนข้างๆ จะรู้สึกว่าทำไมเราไม่ไปช่วยลูกเรา เราก็จะรู้สึกว่าเอ้อ..นี่เราสอนลูกอยู่ อย่าเข้าใจผิดสิ
สถานการณ์แบบไหนที่ไม่ชอบเลย
เวลาไปเที่ยวสวนสนุกแล้วมันมีบันไดลิงประมาณ 5 ขั้นที่ต้องปีนแล้วลื่นลงมา แล้วเราเห็นพ่อคนนึงนั่งเล่นมือถือ กับแม่อีกคนที่ตามใจลูก แล้วก็พูดว่า “อุ๊ย อย่าทำอย่างนั้นสิลูก อย่าทำอย่างนั้น” พ่อแม่ที่ดีจะให้เด็กคนอื่นปีน แล้วลูกตัวเองค่อยปีน พ่อแม่จะช่วยกันดู แล้วเด็กมันก็จะปลอดภัย
ซึ่งเด็กคนนี้ปีนขึ้นปีนลง โดยที่คนเป็นแม่ไดเ้แต่พูดว่า อุ๊ย อย่าชนน้องเขาสิลูกๆ แค่พูดเฉยๆ แต่ไม่ทำอะไร สักพักเด็กคนนั้นก็ก้าวพลาดเองแล้วก็หกล้มแล้วก็ร้องไห้ เราเลยรู้สึกว่าถ้าพ่อแม่มีวินัยแล้วก็เข้มเเข็งกว่านี้อีกนิดลูกก็ไม่ต้องหกล้มแล้ว
ไทธรรม์ชอบโดนแกล้ง
เราให้ลูกเรารับมือเอง แต่ลูกเราก็รับมือด้วยการไม่สนใจ แต่ถ้าเริ่มแรงเราก็จะเข้าไปห้าม เคยมีครั้งหนึ่งเด็กวิ่งเข้ามาขวางไม่ให้ลูกเราเดิน ไทธรรม์ก็เลยมุดใต้เเขนใต้ขา แบบลูกเราไม่สนใจก็เลยเดินเหยียบไป (หัวเราะ) เพราะลูกก็ไม่รู้หรอกว่าโดนแกล้งอยู่ แค่จะเดินไปเล่นแค่นั้นเอง เราก็จะให้เขาดีลกับสิ่งนั้นสักพักก่อน แล้วเราค่อยเข้าไปจัดการ
แนะนำคุณพ่อคุณแม่ที่อ่านอยู่
- ไม่มีพ่อแม่คนไหนพร้อมจะะเป็นพ่อแม่จริงๆ ต่อให้คุณมีเงินเยอะมาก หรืออ่านตำรามาแน่น แต่พอสถานการณ์จริงมันก็อาจไม่พร้อม เพราะงั้นก็อย่ากังวลว่าเราพร้อมมีลูกหรือยัง
- ทุกคนเป็นพ่อแม่ครั้งแรกเสมอ คุณเป็นพ่อแม่คนมีลูถกครั้งแรก แล้วลูกจะสอนให้คุณเป็นพ่อแม่เอง ผ่านการร้องไห้ตื่นตอนกลางคืนของเขา
- การเลี้ยงลูกเป็นศาสนาของบ้านใดบ้านหนึ่งเสมอ
- ประกันเป็นสิ่งสำคัญต่อลูก คุณควรทำประกันแพงที่สุดเท่าที่จ่ายไหว เพราะเด็กเล็กป่วยบ่อย และค่าใช้จ่ายแพงจนเสียสติ (หัวเราะ)
- แบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน พอรู้หน้าที่กันแล้วทุกคนจะมีความสำคัญในครอบครัว
- ถ้าพร้อมเมื่อไหร่มีลูกให้เร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้มีก่อนอายุ 30 จะดีมาก เพราะการเล่นกับลูกเป็นเรื่องของสังขาร บางทีเราก็อยากโลดโผนกับลูกให้มากกว่านี้
เป็นคุณพ่อที่ทำให้เราเห็นว่าคนเราอาจจะไม่ได้พร้อมเป็นคุณพ่อที่สุด แต่ก็เมื่อ “ผู้ชาย” ได้กลายมาเป็น “คุณพ่อ” ก็มีความตั้งใจที่จะดูแลลูกอย่างดีที่สุดเช่นกัน