ในฐานะ Human Resource Professional เก่า ซึ่งหันหลังให้วงการมาดูแลสองลิง จึงเขียนบทความเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะต้องให้คำปรึกษากับพนักงานในองค์กรมาตลอด จึงเห็นว่าสำหรับคุณแม่ท้องที่เป็นพนักงานบริษัท เป็นลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม ก็ควรต้องศึกษาในเรื่องของสิทธิการลาคลอด ว่าสามารถลาได้กี่วัน นับยังไง และมีสิทธิในการเบิกค่าคลอด ค่าจ้างที่จะได้รับจากนายจ้างเป็นเท่าใด และสิทธิประโยชน์ทดแทนที่จะเบิกได้จากประกันสังคมอีกละ
นอกจากสิทธิของคุณเเม่เเล้ว หลายๆ คนยังมีคำถามคาใจ พ่อล่ะ พ่อจ๋าน่ะ ลาหยุดได้เหมือนภรรยาไหมคะ มาเรามาตามหาคำตอบได้ในบทความนี้กันค่ะ มันก็จะดูมีหลักการหน่อยๆ ตามประสาข้อกฎหมายละนะ แต่จะพยายามเขียนให้เข้าใจง่ายๆนะคะ
สิทธิลาคลอดตามกฎหมาย
- คุณแม่ลาคลอดได้ 90 วัน โดยนับวันหยุดในระหว่างวันลารวมด้วย โดยได้รับเงินค่าจ้าง 45 วันจากนายจ้าง 45 วันจากประกันสังคม ส่วนที่ได้รับจากประกันสังคม จะเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนเฉลี่ย 90 วัน (คิดจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท)
- ส่วนถ้าคุณแม่คนไหนฐานเงินเดือนเกิน 15,000 บาท ประกันสังคมเค้าก็จะคำนวณให้ที่ 15,000 บาท เป็นฐานสูงสุดค่ะ ซึ่งก็เยอะอยู่ แต่คุณแม่จะต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ด้วยนะคะจึงเข้าเกณฑ์นี้ และเงินส่วนนี้จะได้รับเฉพาะบุตร 2 คนเท่านั้น คุณพ่อยังไม่มีกฏหมายกำหนดให้มีการลาคลอดได้นะจ๊ะ แต่ในบางองค์กรอาจมีการกำหนดขึ้นมาเองได้ ซึ่งตอนนี้แว่วๆว่ามีหลายที่ ที่กำหนดวันลาประเภทนี้ให้คุณพ่อแล้วจ้า
- คุณแม่บางท่านกังวลเรื่องค่าจ้างที่อาจได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากประกันสังคมสำหรับสี่สิบห้าวันหลัง ก็อาจฟิตร่างกายกลับมาทำงานก่อนครบกำหนดเก้าสิบวันก็ทำได้นะคะ นายจ้างก็จะจ่ายค่าจ้างตามวันที่เรากลับมาทำงานให้เลยค่ะ แต่ถ้าไม่กังวลในข้อนี้ ก็อยากให้คุณแม่ใช้เวลาอยู่กับลูกให้เต็มที่ พักผ่อนฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง เชื่อสิว่าร้อยทั้งร้อยครบเก้าสิบวันแล้วยังไม่อยากกลับมาทำงานเลยค่ะ
ค่าคลอดบุตร
คุณแม่ๆทั้งหลายที่เป็นผู้ประกันตนควรทราบนะคะว่าเราจะเบิกค่าคลอดบุตรได้อย่างไรบ้าง ทราบแล้วก็อย่าลืมไปเบิกด้วยนา เดี๋ยวจะหาว่าสวยไม่เตือน เกริ่นแล้วก็มาดูกันค่ะว่าเราต้องทำอย่างไร
- คุณแม่สามารถเบิกค่าคลอดบุตรจากสำนักงานประกันสังคมในอัตราเหมาจ่าย 13,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง (เริ่มจ่ายวันที่ 1 มกราคม 2554–ปัจจุบัน) ปรับขึ้นมาจากแต่ก่อนนะคะ โดยที่คุณแม่จะต้องจ่ายเงินสมทบครบ 5 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร
- การเบิกค่าคลอดบุตรนั้น คุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนจะเบิกได้จำนวนบุตร 2 คนเท่านั้น ซึ่งหากคุณแม่และคุณพ่ออยู่ในระบบประกันตนทั้งคู่ ก็จะสามารถเบิกได้จำนวนบุตรคนละ 2 คน ต่างคนต่างเบิก และไม่สามารถนำบุตรคนเดียวกันไปเบิกได้นะคะ
- ส่วนการเบิกจ่ายนั้นก็ง่ายมากๆ เตรียมเอกสารให้พร้อมแล้วไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ใดก็ได้ที่คุณแม่หรือคุณพ่อสะดวก ไปยื่นเอกสารแล้วก็รอรับเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารได้เลยค่ะ โดยการเบิกจ่ายนั้น เราจะนำเอกสารไปเบิกทีเดียวทั้งค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตร ดังนั้นเตรียมเอกสารไปให้พร้อมนะคะ เอกสารและรายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้ที่ สำนักงานประกันสังคม
ค่าสงเคราะห์บุตร
- คุณแม่ผู้ประกันตนที่จะได้สิทธินี้จะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ ทั้งนี้คุณแม่จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน โดยอายุของบุตรที่อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจะต้องมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ ใช้สิทธิได้คราวละไม่เกิน 3 คน และต้องบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ เป็นลูกแท้ๆ ของคุณแม่ ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
เอกสารและรายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้ที่ สำนักงานประกันสังคม
นี่แหละค่ะ รวมมิตร สิทธิประโยชน์ของคุณแม่ผู้ประกันตนที่ควรทราบและควรไปใช้สิทธิอย่าให้ตกหล่นนะคะ สิทธิของเราต้องใช้ ปัจจุบันยังคงมีสิทธิตามนี้อยู่ และก็มีหลายๆเรื่องที่กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาปรับอย่างเช่น ในเรื่องระยะเวลาการลาคลอด กำลังมีการยื่นเสนอให้มีการขยายระยะเวลาให้นานมากกว่า 90 วัน
เพราะในต่างประเทศโดยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ รวมถึงเรื่อการให้มีการกำหนดให้คุณพ่อลาหยุดเพื่อดูแลภรรยาที่คลอดบุตรได้เช่นกัน ซึ่งถ้ามีความคืบหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างไร Parents One จะรายงานความคืบหน้าทันทีค่ะ
บทความร่วมกับเพจ โอ้…มายลูก