พ่อถือเป็นคนสำคัญในการสนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง เป็นการส่งเสริมความรักความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ทำให้แม่มีสภาวะจิตใจที่ดี ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวที่ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพังจนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าตามมาได้
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พ่อสามารถช่วยแม่เลี้ยงลกได้ดังนี้
1) ให้กำลังใจแม่ขณะให้นมลูก เพื่อให้แม่มีความมั่นใจและอบอุ่น
2) ให้ลูกได้อยู่กับแม่มากที่สุด โดยพ่อต้องยอมรับว่าในระยะนี้เวลาที่แม่จะมีให้พ่อมีน้อยลง
3) มีส่วนร่วมในการให้นมลูกคือ ขณะแม่กำลังให้ลูกดูดนม พ่อควรหาโอกาสอยู่ร่วมด้วย พูดคุย ให้กำลังใจ สัมผัส ช่วยประคับประคองลูกซึ่งจะทำให้ความผูกพันพ่อแม่ลูกแน่นแฟ้นขึ้น
4) มีความอดทนและเข้าใจ หากบ้านอาจจะไม่เรียบร้อย อาหารอาจไม่อร่อยเนื่องจากแม่ให้เวลาส่วนใหญ่แก่ลูกมากกว่า
5) ช่วยทำงานบ้าน จ่ายตลาด จัดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำ นม ให้แม่ขณะที่ให้ลูกดูดนม ช่วยเปลี่ยนผ้าอ้อม ช่วยอาบน้ำแต่งตัวให้ลูก
6) ทำใจให้สงบเยือกเย็น ถ้าขณะนั้นแม่เครียด เหนื่อย หงุดหงิดใจ ให้พ่อช่วยปลอบโยนแม่เพื่อช่วยให้สบายใจ หายหงุดหงิดให้พ่อช่วยนวดแม่เบาๆ บริเวณคอ ไหล่ และหลังขณะกำลังให้นมลูก หรือเมื่อแม่รู้สึกเครียด ทำให้มีน้ำนมไหลมากขึ้น
7) หากครอบครัวมีลูกมากกว่า 1 คน พ่อก็จะเป็นหลักในการดูแลลูกๆ
8) แสดงความรักแก่แม่อย่างต่อเนื่องอย่างที่เคยทำ
9) ตอบสนองความต้องการทางจิตใจของแม่ตลอดระยะของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ทางองค์การอนามัยโลกและองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองอย่างเดียว 6 เดือนและต่อเนื่อง ควบคู่อาหารที่เหมาะสมตามวัย เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อลูกมากที่สุด ซึ่งเด็กที่กินนมแม่จึงมีภูมิต้านทานโรค และเพิ่มความแข็งแรงให้ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้ลูกป่วยเป็นไข้หวัด ปอดอักเสบ ท้องร่วงน้อยกว่าทารกที่กินนมผสม 2-7 เท่า
อ้างอิงจาก
https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/110863/