มือเป็นอวัยวะสำคัญในการทำสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะในเด็กที่ชอบใช้มือในการหยิบจับและเล่น รวมไปถึงชอบใช้มือหยิบสิ่งของต่างๆ เข้าปาก โดยมือนี่เองที่เป็นตัวนำเชื้อโรคต่างๆ หากไม่ได้ล้างมือเป็นประจำและล้างอย่างถูกวิธี
ในวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN: UNITED NATIONS) กำหนดให้เป็นวันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day) เพื่อณรงค์และกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชากรทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกวิธีเป็นประจำ
ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ ผอ.สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กล่าวว่า สำนักระบาดวิทยารายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 1 ตุลาคม 2561 มีผู้ป่วยอุจจาระร่วง 946,483 ราย ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 130,488 ราย เสียชีวิต 21 ราย และโรคมือเท้าปากมีผู้ป่วย 55,070 ราย โดยมือของเราสามารถนำเชื้อโรคมากมาย สามารถติดต่อผ่านการสัมผัส ซึ่งการล้างมือ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เสียค่าใช้จ่ายน้อยและสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ดี
มีผลการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาว่าการล้างมือที่ถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่เพียง 20 วินาที สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ดีถึง 50% โดยมี 7 ขั้นตอนคือ 1) ฝ่ามือถูกัน 2) ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว 3) ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว 4) หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5) ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6) ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ และ 7) ถูรอบข้อมือ โดยทุกขั้นตอนทำ 5 ครั้ง สลับกันทั้ง 2 ข้าง
นอกจากนี้พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง หากลูกไม่สบายควรให้หยุดเรียนและรีบไปพบแพทย์ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะบางโรคหาไม่รักษาอาจอันตรายถึงชีวิต โดยโรคที่พบบ่อย ได้แก่
1.โรคไวรัส RSV ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง
2.โรคมือเท้าปาก ซึ่งมีการแพร่ระบาดในเด็กเล็กเป็นจำนวนมาก
3.ไข้หวัดใหญ่
4.โรคคออักเสบ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย บางคนเข้าใจว่าโรคนี้ไม่อันตราย แต่เด็กที่ติดโรคนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ แล้วมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ เช่น หัวใจ (ไข้รูมาติก) หรืออาจมีอาการไตวายจนอาจถึงขึ้นเสียชีวิตได้ และ
5.ท้องเสีย
อ้างอิงจาก