Parents One

ลูกเราโตเกินวัยไปหรือเปล่า เลี้ยงลูกให้เป็นผู้ใหญ่ มีผลดีจริงหรือไม่?

หนูเป็นผู้ใหญ่กว่าเพื่อน ๆ เลยนะ

ทำตัวโตกว่าวัยด้วย เก่งจังเลย

 

ทุกคนคงต้องเคยได้ยินประโยคเหล่านี้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งบ้างใช่ไหมคะ การที่เด็กมีอายุที่โตกว่าวัยอาจเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ด้วยความมีวินัย ความรู้สึกนึกคิดของเขาที่คล้ายคลึงกับผู้ใหญ่

แต่รู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้วคำชมเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม ที่อาจทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกว่าตัวเองต้องรีบโตจนเกินไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้  ด้วยสภาพแวดล้อมที่กดดันให้เด็กต้องแข่งขัน รับแรงกดดันไม่น้อยไปกว่าผู้ใหญ่ จนลืมความสุข การละเล่นของการเป็นเด็กไป เรามาหยุดพัก และมารู้จักกับวิธีให้เขาเรียนรู้ที่จะสนุกไปแบบเด็ก ๆ กันดีกว่าค่ะ

 

ลูกเราโตเร็วเกินไปรึเปล่า?

ถ้าลูกน้อยของเรามีนิสัยที่โตเกินกว่าวัย มีความเป็นไปได้ที่เขานั้นแบกรับความรับผิดชอบมากเกินไปจนไม่มีโอกาสที่จะได้เล่นสนุกเหมือนเด็กทั่วไป ไม่ได้ประสบการณ์ของการลองผิดลองถูก การโตเป็นวัยรุ่น การโตเป็นผู้ใหญ่เพราะถูกสภาพแวดล้อมบังคับให้โตเร็วเกินกว่าวัยได้

ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้เขากลายเป็นคนขี้กังวล เหนื่อยล้ากับการใช้ชีวิต มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมงานได้

แต่การเลี้ยงดูนั้นไม่ใช่แค่สาเหตุเดียวที่ทำให้เขาเป็นเด็กที่โตกว่าวัยค่ะ แต่อาจจะขึ้นอยู่กับนิสัยของเขาเองด้วย เขาอาจเป็นคนอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมและคนรอบตัว ส่งผลให้เขารับบทเป็นผู้ดูแลด้วยความเป็นห่วง บังคับให้ตัวเองโตกว่าวัย เพื่อพยายามที่จะดูแลสถานการณ์รอบตัวเขาโดยไม่รู้ตัวก็เป็นไปได้ค่ะ

สำหรับเด็กที่เป็นพี่คนโต ก็อาจจะมีสัญญาณของนิสัยเหล่านี้ผุดขึ้นมาให้เห็นได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นการเร่งให้โตกว่าวัยแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็แล้วแต่ คุณพ่อคุณแม่ควรปกป้องเขาจากการได้รับภาระ ความรับผิดชอบที่มากเกินไปสำหรับอายุของเขาค่ะ

 

ทำยังไงให้เขากลับมาสนุกตามวัยดีล่ะ?

แทนที่จะสอนให้ลูกเป็นเด็กตั้งใจเรียน เด็กมีวินัยอย่างเดียว ทำไมเราไม่มาลองสอนให้เขาหัดมีความสุขและปล่อยใจให้เล่นสนุกไปกับสิ่งรอบตัว ทดลองทำในสิ่งที่ชอบควบคู่ไปด้วยล่ะ? ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ และคุณครูสามารถส่งเสริมให้เจ้าหนูได้ทำในสิ่งที่เด็กควรทำได้ตามนี้ค่ะ:

  1. ย้ำให้เขารู้ว่าการเป็นเด็ก ทำตัวก๋ากั๋นบ้างก็ไม่เป็นไร ให้เขารู้ว่าเรามีความสุขที่ได้เห็นเขาไม่เครียดจนเกินไป ถึงแม้อาจจะน่ารำคาญ แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของเด็ก
  2. เล่นเป็นแบบอย่าง ชวนเขาเล่นสนุกบ้าง ไม่ว่าจะวิ่งไล่จับ ปาหมอน หรือเล่นมุกตลกกับเขาบ้างเป็นครั้งคราว
  3. บอกให้เขารู้ว่าเราภูมิใจในตัวเขาไม่ว่าเขาจะเรียนเก่งหรือไม่ ประสบความสำเร็จแค่ไหนก็ตาม
  4. ช่วยจัดตารางเวลาให้เขา ถ้าสังเกตว่าเขาใช้เวลาเรียนมากจนเกินไป ให้ผ่อนปรนเพื่อมีเวลาเล่น พักผ่อนกับเขา
  5. สนับสนุนลูกในทางที่ลูกต้องการถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องเรียนก็ตาม