พฤติกรรมของเจ้าตัวเล็กที่ชอบทำให้เราเห็นชัดๆ เลย นั่นก็คือ การดูด หรืออมนิ้วมือ เท่านั้นยังไม่พอ!! เพราะยังชอบดูดนิ้วเท้าด้วย คุณแม่ขอแปลกกว่านี้อีกค่ะ ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมลูกจะต้องชอบดูดนิ้วมือของตัวเองด้วย เพราะมันก็มีเชื้อโรคที่สะสมอยู่ที่มือเยอะเช่นกัน
แต่เอ๊ะ!! ทำไมพอเราปรึกษาคุณหมอบางคนกลับบอกว่าไม่ต้องเป็นกังวลล่ะ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยกันเถอะ
สาเหตุที่ลูกชอบดูดนิ้ว
- ลูกน้อยรู้สึกสบายใจ และมีอารมณ์ผ่อนคลาย
คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่า อาการอมนิ้ว หรือดูดนิ้วมือของเจ้าตัวเล็ก ถือเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากการได้ดูดบางสิ่งบางอย่าง
ทางการแพทย์ได้บอกไว้ว่า เมื่อเด็กทารกในช่วงอายุ 0-1 ปี ซึ่งอยู่ในระยะ Oral Stage จะมีความสุขกับการได้ดูด และสัมผัสสิ่งของเป็นอย่างมาก การดูดนิ้วของเด็กในวัยนี้จึงถือว่าเป็นพัฒนาการตามปกติของช่วงวัยอีกด้านที่ร่างกายตอบสนองค่ะ
ซึ่งเด็กเล็กมักจะเริ่มดูดนิ้วตัวเอง เมื่ออายุประมาณ 2 เดือนค่ะ เเต่เด็กทุกคนก็ไม่จำเป็นจะต้องดูดนิ้วเสมอไปนะ บางคนไม่ดูดเลย แต่บางคนก็อาจจะดูดนิ้วในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้เช่นกัน
- รู้สึกสนุกสนานที่ได้อมนิ้วมือ หรือเล่นนิ้วมือตัวเอง
เจ้าตัวเล็กมักจะชอบสังเกต และสำรวจร่างกายของตัวเอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เจ้าตัวเล็กจะรู้สึกสนุกสนาน และเพลิดเพลินกับการได้อมนิ้วมือของตัวเองไปเรื่อยๆ เหมือนกับการที่ผู้ใหญ่อย่างเรา มักจะชอบนั่งสั่นขานั่นเองค่ะ
- เรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่
แต่ในเด็กบางคนอาจจะทำพฤติกรรม เพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ก็ได้เช่นกัน นั่นเพราะพวกเขาขาดความเอาใจใส่ดูแล จึงพยายามทำให้ตัวเองเป็นจุดสนใจ โดยการทำพฤติกรรมที่ไม่ดี เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มาว่ากล่าวตักเตือน หรือสนใจพวกเขาเพิ่มขึ้นนั่นเอง
เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจ หากหันไปทีไรก็เจอแต่เจ้าตัวเล็กดูดนิ้วมือของตัวเองนะคะ แต่ว่าเราต้องช่วยกันรักษาความสะอาดให้กับนิ้วมือ หรือสิ่งของที่ลูกมีโอกาสที่จะหยิบมันเข้าปาก เพราะว่าเชื้อโรคอาจจะเข้าสู่ร่างกายผ่านช่องปากได้ง่ายมากขึ้น โดยการหมั่นพาลูกไปล้างมือบ่อยๆ ก่อนทำกิจกรรมใดๆ นั่นเอง
เมื่อไหร่ที่ลูกควรเลิกดูดนิ้ว?
- ลูกอายุ 4 – 5 ขวบขึ้นไป
เมื่อลูกอายุ 4 – 5 ขวบ พฤติกรรมการดูดนิ้วของเด็กจะค่อยๆ หายไปเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ลูกไม่ยอมเลิกดูดนิ้วตัวเอง ก็อาจจะเกิดผลเสียได้เช่นกัน เช่น เกิดปัญหาการสบฟันแท้ และนิ้วมือเปื่อยด้าน รวมไปถึงปัญหาด้านบุคลิกภาพที่อาจจะดูไม่ดีในสายตาของเพื่อนรุ่นเดียวกัน และความมั่นใจที่จะลดทอนลงนั่นเองค่ะ
- เมื่อนิ้วมือเป็นแผล หรือมือเปื่อย
อยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจว่าการดูดนิ้วของลูกน้อยเป็นเรื่องที่ธรรมดามากเลยนะคะ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องซีเรียส หรือเป็นกังวลมากจนเกินไป ตราบใดที่นิ้วมือของลูกไม่มีบาดแผล หรือมือเปื่อยยุ่ยนั่นเอง เพราะถ้ามีล่ะก็อาจจะทำให้เชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
- ลูกดูดนิ้วแบบเรื่อยเปื่อย
ลูกอาจจะติดดูดนิ้วทั้งวันทั้งคืน และชินกับการเอามือเข้าปากทั้งวัน แบบนี้คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ไม่ไหวเช่นกันนะคะ
- ลูกดูดแรง จนปากและฟันผิดรูป
การดูดนิ้วมือบ่อยๆ และดูดแรง อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับช่องปากตามมาได้มากมาย เช่น ฟันเหยิน หรือรูปปากปละฟันขึ้นผิดรูปก็ได้เช่นกันค่ะ
ทำอย่างไร เมื่อลูกน้อยดูดนิ้วมือ?
- เข้าใจว่าการดูดนิ้ว คือความสุขของลูกน้อย
คุณพ่อคุณแม่ต้องศึกษาข้อมูล และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “การดูดนิ้ว” ของลูกให้มากๆ เพราะบางครั้งมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดร้ายแรงอะไร แต่ต้องดูดให้พอเหมาะ ไม่มากเกินไปเท่านั้นเอง เพราะว่าการดูดนิ้ว มันคือความสุขของลูกน้อยนั่นเองค่ะ
- อย่าดุ หรืออารมณ์เสียใส่ลูกเรื่องดูดนิ้วมือเด็ดขาด!!
อย่าอารมณ์เสียใส่ลูกด้วยเรื่องการดูดนิ้วเด็ดขาด เพราะว่าพวกเขาเด็กเกินกว่าที่จะรู้เรื่องว่าอะไรดี หรือไม่ดี แต่ควรพูดให้ลูกฟังด้วยเหตุผลมากกว่า
- เบี่ยงเบนความสนใจของลูกน้อย
เมื่อเห็นว่าลูกกำลังจะดูดนิ้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าตัวน้อยให้ไปทำอย่างอื่นแทน เช่น พาไปเล่นของเล่น หรือเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ หรือจะพาไปทานอาหารก็ได้เช่นกัน ให้ลูกอิ่มอาหารย่อมดีกว่าให้ลูกอิ่มรสชาติของนิ้วมือใช่ไหมล่ะคะ
- ทำเป็นไม่สนใจ เมื่อลูกดูดนิ้ว
บางครั้งที่เด็กดูดนิ้วก็คงเป็นเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากคนเป็นพ่อเป็นแม่ ดังนั้น เราลองทำเป็นไม่ต้องสนใจ เมื่อเขาดูดนิ้ว แต่ต้องให้เวลากับลูก เล่นกับลูก ใส่ใจลูกให้มากขึ้น เพื่อให้พวกเขาไม่รู้สึกขาด และจะได้ไม่ต้องเรียกร้องความสนใจด้วยการดูดนิ้วมือนั่นเอง
- พูดกับลูกให้รู้เรื่อง และเข้าใจถึงผลเสียของการดูดนิ้วมือตอนโต
บอกถึงผลเสียของการดูดนิ้วมือให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุผล และอย่าใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง
- ทาครีมที่มือ
ลองทาครีมเหนอะๆ ที่มือลูก แล้วบอกลูกว่าห้ามอมนิ้วนะ เพราะนั่นหมายถึงว่า ลูกได้กินครีมเข้าไปแล้วนั่นเองจ้า
- ให้รางวัล เมื่อเลิกดูดนิ้วได้
ถ้าหากลูกโตแล้ว แต่ยังไม่สามารถเลิกดูดนิ้วมือได้ ลองให้รางวัลในความพยายามของพวกเขาดูสิ ไม่แน่นะ อาจจะเลิกได้เร็วกว่าที่เราคิดด้วยซ้ำ
สุดท้ายนี้ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คิดว่าการที่ลูกดูดนิ้วนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร จึงไม่ควรทำโทษกับเจ้าตัวเล็กที่ชอบดูดนิ้ว และเมื่อผ่านช่วงอายุไปสักพัก เด็กๆ ก็จะเลิกดูดนิ้วมือเองค่ะ เเต่สิ่งที่เราควรใส่ใจเมื่อลูกอมนิ้ว นั่นก็คือ เรื่องความสะอาดของนิ้วมือ ควรหมั่นล้างมือลูกบ่อยๆ เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรค และสิ่งสกปรกเข้าสู่ร่างกาย
ขอบคุณแหล่งอ้างอิง :