ช่วงหลังๆ มานี้การติดเชื้อของโควิด-19 ในเด็ก มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้แม่ๆ อย่างเราต้องคอยระมัดระวังความปลอดภัยของลูกมากขึ้น ซึ่งนอกจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่แม่ๆ รู้จักกันดีแล้ว ตอนนี้ติดแล้วไม่จบนะคะ เพราะมันสามารถเชื่อมโยงภาวะตับอักเสบรุนแรงในเด็กเล็กได้อีกด้วย
โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลการวิจัยจาก ทีมวิจัยโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เรื่อง การติดเชื้อโรคโควิด-19 กับความผิดปกติของตับในเด็กเล็ก โดยระบุว่า
ทีมวิจัยจากโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาในเด็กอายุ 1-10 ปี จำนวนถึง 796,369 คน โดยมีเด็ก 245,675 คนที่ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ตั้งแต่มีนาคม 2020 ถึงมีนาคม 2022 เปรียบเทียบกับเด็ก 550,694 คนที่ติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
ผลการศึกษาพบว่า แม้จะผ่านไปแล้วนานถึง 6 เดือน เด็กที่ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 นั้นจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาค่าเอนไซม์ตับสูง มากกว่ากลุ่มเด็กที่ติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ ถึง 2.52 เท่า จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาค่า total bilirubin สูง มากกว่ากลุ่มเด็กที่ติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ ถึง 3.35 เท่า
โดย พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ เจ้าของเพจ เรื่องเด็กๆ by หมอแอม โพสต์ข้อความว่า พบ ตับอักเสบปริศนา
1. ช่วงเดือนเมษายน 2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า พบเด็กนับร้อยราย จู่ๆ ก็เป็นตับอักเสบเฉียบพลัน “แบบรุนแรง” มีเด็กต้องเปลี่ยนตับและบางรายเสียชีวิตในหลายประเทศแถบตะวันตก
2. ช่วงเดือนพฤษภาคม เริ่มมีรายงานเคสในแถบเอเชีย ล่าสุดพบเด็ก (อายุ < 16 ปี) เป็นตับอักเสบปริศนา มากกว่า 450 ราย เสียชีวิต 11 ราย
3. ซึ่งเป็นที่ งง-งวย ของทั่วโลก เพราะปกติแล้ว ตับอักเสบจากการติดเชื้อ มักเกิดจากเชื้อตับอักเสบ hepatitis virus (เช่นที่เราฉีดวัคซีนกัน = hepatitis A,B) แต่ครั้งนี้ เคสไหนๆ ก็ตรวจไม่เจอเจ้าเชื้อตับอักเสบเจ้าเก่าของเราเลย
4. แต่กลับพบเชื้อ adenovirus ที่ปกติเจ้าตัวนี้ ไม่ทำอันตรายกับตับเรา และ/หรือพบหลักฐานการติดเชื้อโอมิครอนในเด็กๆ เหล่านี้แทน
สำหรับอาการที่ต้องสังเกต
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้อาเจียน
- ถ่ายเหลว
- ตรวจพบเอนไซม์ตับสูงขึ้น
- ตาเหลืองตัวเหลือง
อย่างไรก็ตาม วัคซีนตับที่เด็กๆ ได้ฉีดกัน เป็นวัคซีนตับอับเสบจากเชื้อ hepatitis virus ซึ่งภาวะตับอักเสบนี้ ไม่ได้เกิดจากเชื้อในวัคซีน แปลง่ายๆ คือ วัคซีนตัวนั้นไม่ช่วยตับอักเสบกรณีนี้ เพราะคนละเชื้อ คนละสาเหตุกัน
อ้างอิง : https://www.thairath.co.th/news/society/2394651