เมื่อต้องพาเด็กเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ด้วยรถยนต์ สิ่งสำคัญคือควรต้องให้นั่งคาร์ซีท เนื่องจากมีหลายกรณีที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วเด็กไม่ได้นั่งคาร์ซีท จนทำให้เป็นอันตรายสาหัส
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วันที่ผ่านมา (10-14 เมษายน) พบเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 580 ราย ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล 72 ราย และเสียชีวิตอีก 1 ราย ในรายที่เสียชีวิตเป็นเด็กอายุ 3 ปี
ดังนั้นกรมควบคุมโรคจึงแนะนำเวลาที่พาเด็กโดยสารไปกับรถยนต์อย่างปลอดภัย ดังนี้
1.ควรเลือกใช้คาร์ซีทสำหรับเด็กโดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับวัย น้ำหนัก ส่วนสูงของเด็ก และคาดเข็มขัดนิรภัยให้เรียบร้อย โดยให้เด็กนั่งหันหน้าไปทางหลังรถเพื่อช่วยป้องกัน หัว คอ กระดูกสันหลังของลูกน้อยไม่ให้ได้รับการกระทบกระเทือนแรงๆ หากเกิดอุบัติเหตุ
2.ควรหลีกเลี่ยงการให้เด็กมานั่งเบาะหน้าข้างคนขับ ถึงแม้จะใช้คาร์ซีทก็ตาม เนื่องจากเวลาที่เกิดอุบัติเหตุกระแทกแรงๆ ถุงลมนิรภัยอาจอัดกระแทกได้ หากเลี่ยงไม่ได้ต้องให้เด็กนั่งเบาะหน้ารถ ควรเลื่อนเบาะไปด้านหลังให้มากที่สุด เพื่อรักษาระยะห่างและลดการถูกกระแทก
3.ถ้าเป็นเด็กโต ให้คาดเข็มขัดนิรภัย โดยเด็กต้องมีความสูงเพียงพอที่จะนั่งตัวตรงห้อยขากับเบาะรถ และหลังพิงพนักได้ถนัด โดยส่วนล่างของเข็มขัดนิรภัยต้องพาดผ่านกระดูกเชิงกราน และส่วนบนพาดผ่านหน้าอกในระดับพอดี ไม่ควรให้เด็กเล็กคาดเข็มขัดนิรภัย
และที่สำคัญไม่ควรใช้เข็มขัดนิรภัยเส้นเดียวกันคาดผู้ใหญ่กับเด็ก หรือเด็ก 2 คนไว้ด้วยกัน เพราะหากประสบอุบัติเหตุเข็มขัดนิรภัย จะไม่สามารถปกป้องอันตรายจากการถูกกระแทกและพุ่งออกนอกรถได้
อ้างอิงจาก
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=18091&deptcode=brc