ของสำคัญหนึ่งอย่างที่ลูกต้องพกเวลาไปโรงเรียนก็คือกระเป๋านักเรียน หากคุณพ่อคุณแม่ลองตรวจสอบดูอาจจะพบว่ากระเป๋าของลูกมีน้ำหนักที่มากเกินกว่าที่ลูกจะแบกไหว ซึ่งการที่ลูกแบกกระเป๋าหนักเกินตัว อาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบและส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของลูกได้
นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าเด็กไทยวัยประถมแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกินกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว คือ ถ้าเด็กหนัก 30 กิโลกรัม น้ำหนักกระเป๋าควรอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลกรัม แต่เด็กไทยกลับแบกกระเป๋าหนักถึง 4-6 กิโลกรัม การที่ต้องแบกกระเป๋าใบใหญ่ ทั้งหนักและนาน อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกาย โดยเฉพาะแขน ไหล่และสะบัก และส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก
นอกจากนี้นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กวัยอนุบาลและประถมอยู่ในช่วงการเจริญเติบโต และพัฒนาการด้านการทรงตัว จึงยังทรงตัวได้ไม่ดีนัก การแบกกระเป๋าใบใหญ่และน้ำหนักมาก อาจทำให้เด็กล้มง่าย เดินลำบากมากขึ้น เพราะกำลังแขนขายังไม่แข็งแรง ดังนั้นอาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บทั้งจากการล้มและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการแบกกระเป๋า
โดยกระเป๋านักเรียนส่วนมากที่เราเห็นกันจะมีอยู่ 2 แบบคือ แบบใช้มือถือและแขวนหลัง ซึ่งการใช้กระเป๋าแบบถืออาจเกิดการบาดเจ็บและทำให้เสียสมดุลร่างกายได้มากกว่าแขวนหลัง ทั้งนี้หากกระเป๋ามีน้ำหนักมาก แนะนำให้ใช้กระเป๋าลาก ถ้าต้องสะพายเป็นเวลานานควรใช้กระเป๋าแขวนหลังแต่ต้องมีน้ำหนักไม่มากส่วนกระเป๋าถือนั้น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ไม่ควรมีน้ำหนักมากจนเกินไปและไม่จำเป้นต้องถือนานนัก
สำหรับวิธีการควบคุมน้ำหนักสิ่งของในกระเป๋าของลูก พ่อแม่ก็สามารถช่วยได้โดยควบคุมให้ลูกจัดกระเป๋านักเรียนตามตารางสอนทุกวัน อย่าใส่ตำราเรียนทุกวิชาใส่ในกระเป๋าลูกเผื่อตัดปัญหาจำตารางสอนไม่ได้หรือเพราะขี้เกียจ นอกจากนี้ควรสังเกตท่าทางของลูกเวลาหิ้วกระเป๋านักเรียน ถ้าเห็นตัวลูกเอียงซ้ายหรือขวา แสดงว่าร่างกายไม่สมดุล ควรแนะนำลูกให้เดินตัวตรง ไม่เอนตัวไปข้างหน้า หรือทำหลังค่อมเพื่อรับน้ำหนัก เพื่อลดความเสี่ยงที่เด็กจะปวดเมื่อยจากปัญหากล้ามเนื้ออักเสบ
อ้างอิงจาก