จากการสำรวจปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 (ภายใน 14 ประเทศทั่วโลก) พบว่า เด็กไทยเกือบ 80% มีประสบการณ์ Cyberbullying ในชีวิตจริง โดย 66% ถูกแกล้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และอีก 12% ถูกแกล้งทุกวัน ขณะที่เด็กไทย 45% มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแล้งทางโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งเป็นสถิติที่มากกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นถึง 4 เท่า
จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวของลูกเราเหลือเกิน ไปดูกันว่าจะมีวิธีสังเกตและรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไรค่ะ
Bullying และ Cyberbullying
Bullying คือ การที่เด็กและวัยรุ่นประสบกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งที่จำกัดเฉพาะในบางสถานที่ เช่น โรงเรียน ซึ่งการกลั่นแกล้ง มี 3 รูปแบบคือ
- ทางร่างกาย คือการทำร้ายด้วยการต่อยตี หยิก ผลัก ขัดขา หรือทำลายข้าวของ
- ทางวาจา คือการพูดจาโจมตี ข่มขู่ แหย่ ล้อเลียน ฯลฯ
- ทางอารมณ์หรือสังคม เช่น ปล่อยข่าวลือ ทำให้อับอายต่อหน้าคนอื่น ทำเป็นไม่สนใจ หรือไม่ยอมรับเข้ากลุ่ม
Cyberbullying คือ การกลั่นแกล้งกันผ่านโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม แชท หรือเว็บไซต์ต่างๆ เป็นเครื่องมือหลักในการรังแกและกลั่นแกล้งกัน โดยรูปแบบการรังแกกันมีดังนี้
- ทางวาจา การใส่ร้ายป้ายสีหรือใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อว่าทำให้เสียหายผ่านทางอินเทอร์เน็ต
- ทางอารมณ์หรือสังคม มีการแชร์ต่อ หรือมีการพูดถึงประเด็นนั้นๆ ต่อไป เพื่อทำให้รู้สึกอับอาย เจ็บปวด
สัญญาณเตือนเมื่อลูกถูก Bullying และ Cyberbullying
- ลูกไม่อยากตื่นไปโรงเรียน และมีผลการเรียนตกต่ำ
- มีอารมณ์ซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่กระตือรือร้น ไม่มีชีวิตชีวา
- แยกตัว ซึมหรือเงียบไป หนีจากโลกความเป็นจริงด้วยการอยู่ในโลกส่วนตัว
- ลูกจมอยู่กับเกมส์ หรือสร้างตัวตนปลอมๆ ในโซเชียลเพื่อให้ได้รับการยอมรับ
- มีอาการทางกายบางอย่างแสดงออกมา เช่น ปวดหัว ปวดท้อง
- เวลาเล่นโทรศัพท์แล้วลูกสีหน้าเปลี่ยนไป เพราะอาจเจอ Cyberbullying เข้า
- บางทีรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้ หรือพยายามฆ่าตัวตาย
วิธีป้องกัน
- หมั่นคุยกับลูกและสังเกตลูกบ่อยๆ
- ติดต่อสื่อสารกับคุณครูและกลุ่มผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด
- แสดงตัวบ้างที่โรงเรียนเพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย
- สอนลูกๆ ว่าอย่าไว้ใจคนแปลกหน้า โดยเฉพาะในโลกออนไลน์
- ควรกำหนดข้อตกลงกันก่อนที่จะอนุญาตให้ลูกใช้เครื่องมือสื่อสารและโซเชียลมีเดีย
- คอยสอดส่องว่าลูกจะไปไหน กับใคร หรือเพื่อนที่ลูกคุยด้วย แชตด้วยเป็นใคร
อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเด็กที่ถูกรังแกผ่านโลกออนไลน์ก็ควรต้องมีสติในการใช้สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ด้วย และอย่าลืมว่าเราสามารถลบข้อความที่สร้างความเสียหายกับเราได้ ทั้งยังสามารถ Block/Report คนที่กลั่นแกล้งเราหรือพาตัวเองออกจากสังคมออนไลน์ไปสักระยะ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการถูก Cyberbullying ค่ะ
ที่มา – amarinbabyandkids , pantip , kapook