คนเป็นพ่อเป็นแม่ย่อมอยากให้ลูกมีความผูกพันกับตัวเอง แต่ความผูกพันใช่ว่าจะเกิดได้ในระยะเวลาสั้นๆ การฟูมฟักความผูกพันทางอารมณ์ให้แก่ลูกที่ดีที่สุดควรเริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนอายุประมาณ 5 ปี และจะต้องสร้างความผูกพันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความผูกพันต่อพ่อแม่เป็นรากฐานสำคัญในการที่เด็กจะไปสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นต่อไป เมื่อความผูกพันมีความสำคัญขนาดนี้ งั้นเราไปรู้จักความผูกพันทางอารมณ์ให้มากขึ้นกันดีกว่าค่ะ
ความผูกพันทางอารมณ์คืออะไร ?
ความผูกพันทางอารมณ์ เป็นความผูกพันอันลึกซึ้งทางจิตใจระหว่างพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูลูก ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน ความผูกพันทางอารมณ์นี้จะเกิดได้จากการได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ในการปกป้องดูแลตั้งแต่แรกเกิด จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยและมั่นใจในการทำสิ่งต่างๆ เมื่อมีพ่อแม่ที่ลูกรู้สึกผูกพันอยู่ใกล้ๆ จนเกิดเป็นความผูกพันทางอารมณ์
ส่วนสำคัญคือ การสร้างความมั่นใจและความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูก โดยพ่อแม่ต้องเข้าใจว่าลูกต้องการอะไร เช่น การดูแลปกป้อง คำชม ได้รับกำลังใจ และต้องตอบสนองลูกได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที ดังนั้นพ่อแม่ต้องฝึกสังเกตความต้องการของลูกค่ะ
สิ่งสำคัญในการสร้างความผูกพันทางอารมณ์
การตอบสนองต่อความต้องการของลูกอย่างรวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์คือหัวใจสำคัญในการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ เช่น
- เมื่อลูกต้องการออกไปเล่น พ่อแม่ก็ควรสนับสนุนให้ความมั่นใจ และเปิดโอกาสให้ลูกเล่นได้อย่างเต็มที่ ด้วยการพยักหน้าหรือยิ้มให้ลูก เพื่อให้เขามั่นใจว่าเขาสามารถเล่นได้ แต่ไม่ควรห้ามด้วยการแสดงท่าทีกังวล กลัว หรือรำคาญ เพราะลูกอาจจะไม่กล้าทำ และคิดว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องที่ผิด
- เมื่อลูกวิ่งมาหา เพราะ เหนื่อย หิว กลัว ให้ตอบสนองความต้องการนั้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการอ้าแขนรับ โอบกอดให้ลูกหายตกใจ หาน้ำหรือขนมให้กิน ไม่ควรปล่อยปละละเลยหรือไม่สนใจลูก
- เมื่อลูกเรียกร้องความสนใจ ก็ควรตอบสนองทันทีเช่นกัน ด้วยการ ยิ้มกลับ อุ้มลูก ลูบศีรษะ ด้วยความรู้สึกรักและทะนุถนอม
คุณพ่อคุณแม่อาจกังวลว่าการตอบสนองอย่างรวดเร็วแบบนี้จะทำให้ลูกติดเรามาเกินไปหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้ว การที่เราตอบสนองลูกทันที อย่างการกอดหรืออุ้มบ่อยๆ ในช่วง 1 ปีแรก จะทำให้เกิดความผูกพันที่มั่นคง เพราะลูกจะเกิดความมั่นใจ เชื่อใจ ไว้วางใจว่าตนเองเป็นที่รัก และจะไม่มีวันถูกทอดทิ้ง เมื่อเติบโดขึ้นจะทำให้ลูกไม่กลัวการแยกจากมากผิดปกติ ไม่ร้องให้อุ้มหรือเกาะติดกับพ่อแม่ตลอดเวลา
วิธีการสร้างความผูกพันทางอารมณ์
ลูกสามารถเกิดความผูกพันได้กับหลายคน แต่จะพัฒนาความผูกพันที่เหนียวแน่นมั่นคงได้กับคนที่ลูกใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด รู้จักและเข้าใจลูกมากที่สุด โดยพ่อแม่สามารถสร้างความผูกพันที่มั่นคงได้ดังนี้
- สังเกตลูกให้มากที่สุด ทั้งท่าทาง การแสดงออกต่างๆ ว่าลูกต้องการสื่อสารอะไรกับเรา เราจะต้องแปลความหมายให้ออก โดยเฉพาะลูกเล็กๆ ที่ยังพูดไม่ได้ ต้องอาศัยการสังเกตสีหน้า ท่าทาง จดจำท่าทางเหล่านั้นแล้วตอบสนองทันที ต้องทำอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ
- เล่นกับลูกโดยให้ลูกเป็นผู้เลือกสิ่งที่เขาจะเล่น โดยที่พ่อแม่ไม่ขัดจังหวะ วันละอย่างน้อย 15 นาที เราต้องแสดงออกถึงความสนุกสนานและมีความสุขที่ได้เล่นกับลูก
- ทำกิจวัตรประจำวันอย่างเป็นเวลาและสม่ำเสมอในแต่ละวัน เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกมั่นคง และเกิดความเป็นระเบียบ
- สื่อสารด้วยภาษาท่าทางกับลูกเล็กเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ ลูกยังไม่เข้าใจภาษาพูดของผู้ใหญ่ การกอด หอม ยิ้มให้ อุ้มเดิน หรือแม้แต่การสบตาลูกขณะอาบน้ำก็เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกสัมผัสได้ถึงความรักและความอบอุ่น
- ในเด็กวัย 1-3 ขวบ ควรให้อิสระในการเล่นและทำสิ่งใหม่ๆ โดยที่พ่อแม่ต้องอยู่ใกล้ๆ เพราะลูกต้องการกำลังใจ เพื่อยืนยันว่าเขาสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ลูกมั่นใจในการกระทำนั้น
สิ่งที่ต้องทำทุกวัน
ความผูกพันทางอารมณ์เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน การทำกิจกรรมร่วมกัน และมีช่วงเวลาที่อบอุ่น โดยมาจากพื้นฐานสิ่งที่ควรทำทุกวัน คือ
- บอกรักลูก : ถึงแม้ว่าการกระทำจะเป็นการแสดงออกถึงความรักรูปแบบหนึ่ง แต่คำพูดเป็นสิ่งที่ลูกจะรับรู้ได้โดยไม่ต้องตีความใดๆ
- สังเกต/สอบถามอารมณ์และความรู้สึก : การพูดคุยกับลูก ให้ลูกเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง จะทำให้ลูกรับรู้ว่าตอนนี้ตัวเองกำลังเป็นอะไร และจะทำให้ลูกเกิดความไว้วางใจว่าเขาสามารถพูดถึงความรู้สึกของตนเองให้พ่อแม่ฟังได้
- เล่า/อ่านนิทานด้วยกัน : การอ่านนิทานเป็นการเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่ดี เพราะในระหว่างนั้นจะมีการพูดคุยกัน ใช้เวลาร่วมกัน ลูกจะสัมผัสได้ถึงความสนุกสนานและมีความสุข
- ใช้เวลาคุณภาพกับลูก : คือการพูดคุยกับลูกโดยให้เวลาและความสนใจทั้งหมดอยู่ที่ลูกและไม่ทำสิ่งอื่นๆในขณะที่คุยกับลูก ติดต่อกันอย่างน้อย 10-15 นาทีต่อวัน