น้ำนมแม่มีผลต่อพัฒนาการของสมอง ลดการติดเชื้อในเด็กป่วย ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุจจาระร่วง ลดโอกาสการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง และลดความรุนแรงของอาการป่วยด้วยโรคหลอดลมฝอยอักเสบที่เกิดจากไวรัส RSV ดังนั้นคุณแม่จึงควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และหลัง 6 เดือนให้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยจนอายุ ครบ 2 ปี
แต่สำหรับเด็กป่วยที่อาจจะถูกแยกออกจากแม่เมื่อไปอยู่ที่โรงพยาบาล ทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับน้ำนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารที่มีคุณค่าและมีความสำคัญที่สุดในชีวิต จึงควรสนับสนุนและหาวิธีที่จะช่วยให้แม่ได้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดู โดยแนะนำบันได 10 ขั้นในการให้นมลูกดังนี้
บันไดขั้นที่ 1 การให้ข้อมูลนมแม่ในเด็กป่วย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนมแม่กับบิดามารดาและครอบครัวของทารกตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ ว่านมแม่มีประโยชน์อย่างไรและมีความจำเป็นมากสำหรับทารกและเด็กป่วย เน้นถึงคุณค่าของนมแม่ในแง่ของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยและทารกป่วย
บันไดขั้นที่ 2 การกระตุ้นการหลั่งน้ำนมให้มาเร็วและต่อเนื่อง แม่ต้องบีบน้ำนม ทุก 2-3 ชม. จำนวน 8 ครั้งต่อวัน เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนมอย่างเต็มที่
บันไดขั้นที่ 3 การเก็บรักษาน้ำนม
บันไดขั้นที่ 4 การเคลือบช่องปากด้วยน้ำนมแม่ การนำนมแม่เคลือบช่องปากลูกทุกๆ 3 ชม.
บันไดขั้นที่ 5 ให้แม่โอบกอดลูกเนื้อแนบเนื้อ เสริมสร้างความรักความผูกพันของแม่ลูก กระตุ้นการสร้างน้ำนม กระตุ้นให้น้ำนมมาเร็ว ทำให้ลูกได้รับหัวน้ำนมแม่เร็วขึ้น ลูกดูดนมแม่ได้เร็วขึ้น สร้างความมั่นใจในการดูแลลูก เพิ่มภูมิคุ้มกันผ่านทางน้ำนมแม่
บันไดขั้นที่ 6 การดูดเต้าเปล่า เป็นการเตรียมพร้อมการดูดนมจากเต้าเปล่าโดยการบีบน้ำนมออก 15 นาที ก่อนให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าโดยตรง เริ่มฝึกให้ลูกดูดนมจากเต้า
บันไดขั้นที่ 7 การเปลี่ยนผ่านสู่การดูดนมจากเต้า ควรให้ทารกได้เรียนรู้การดูดนมแม่
บันไดขั้นที่ 8 การวัดปริมาณน้ำนมที่ทารกได้รับ จะช่วยยืนยันว่าทารกได้รับน้ำนมพอหรือไม่
บันไดขั้นที่ 9 การเตรียมความพร้อม และสร้างความมั่นใจก่อนกลับบ้าน ได้เรียนรู้กับเหตุการณ์จริงที่จะเกิดขึ้น ช่วยสร้างความมั่นใจให้แม่ที่จะกลับไปเลี้ยงลูกที่บ้าน
บันไดขั้นที่ 10 มีระบบติดตามดูแลแม่หลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ติดตามภายหลังนำลูกกลับบ้าน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง
อ้างอิงจาก
childrenhospital.go.th/