Parents One

แม่จ๋า ขาหนูเป็นแบบนี้เรียกว่า “ขาโก่ง” รึเปล่านะ

คุณพ่อคุณแม่หลายคนน่าจะเคยได้ยินคนโบราณพูดกันว่าลูกเกิดมาขาโก่งแล้วต้องดัดขา แต่รู้ไหมคะว่าการดัดขานั้นเป็นอันตรายต่อลูกมากๆ รวมไปถึงความเชื่อที่ว่าลูกจะขาโก่งถ้าใส่ผ้าอ้อมหรืออุ้มเข้าเอวก็เช่นกัน จริงๆ แล้ว ขาโก่งในเด็กไม่ใช่ภาวะอันตราย ดังนั้นเราไปทำความเข้าใจเรื่องขาโก่งกันให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ จะได้ดูแลเจ้าตัวเล็กได้อย่างถูกต้อง

ภาวะขาโก่งในเด็ก

ขาโก่ง เป็นอาการที่เมื่อยืนตรง ส้นเท้าชิดกันแต่เข่าทั้งสองข้างไม่สามารถมาชนกันได้ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างขาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งคุณแม่ๆ มักจะเป็นกังวลว่าลูกจะมีอาการขาโก่งแล้วส่งผลให้เกิดผลเสียสุขภาพและต่อบุคลิกภาพในอนาคต แต่ขอบอกก่อนค่ะว่าภาวะขาโก่งในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบเป็นเรื่องปกตินะคะ คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลไป

โดยภาวะขาโก่งเกิดจากขณะที่ลูกอยู่ในท้องแม่นั้นจะมีการขดตัว เพราะว่าอยู่ในที่แคบ จึงต้องงอแขนงอขาให้ได้มากที่สุด ทำให้กล้ามเนื้อบางมัด เส้นเอ็นบางเส้นตึงมากกว่าอีกด้านหนึ่ง ลักษณะของกระดูกจึงไม่ตรง โดยเฉพาะส่วนขาที่บริเวณหัวเข่าจะแบะออก นอกจากนี้ในเด็กช่วงวัย 1-2 ปี ซึ่งเป็นช่วงหัดเดิน การทรงตัวยังไม่มั่นคง เด็กจะเดินขาถ่างๆ หน่อย เข่างอเล็กน้อยจึงทำให้เหมือนว่าขาโก่ง แต่เมื่อลูกโตขึ้น แขนขามีการเหยียดยืดมากขึ้น  กระดูกของเขาก็จะตรงขึ้นเมื่ออายุ 2 ขวบขึ้นไป

สรีระของขาตามช่วงวัย

ขาโก่งแบบไหนถึงต้องรักษา

ถึงแม้ว่าภาวะขาโก่งในเด็กจะเป็นภาวะที่หายได้เองเมื่อลูกโตขึ้น แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่หลังจากอายุ 2 ขวบแล้วขาของลูกกลับไม่ตรงเหมือนที่ควรจะเป็น โดยวิธีการดูคือจับขาให้เหยียดตรง โดยให้ตาตุ่มด้านในอยู่ชิดกันมากที่สุด แล้วสังเกตว่าด้านในของข้อเข่าอยู่ห่างกันเกิน 5 ซม. รวมไปถึงควรสังเกตการเดินของลูกว่าผิดปกติไหม เวลายืนหรือเดินจะหมุนขาเข้าด้านใน เดินกระเผลกรึเปล่า  ถ้ามีความผิดปกติก็ควรไปปรึกษาแพทย์ค่ะ

ความเชื่อผิดๆ เรื่องขาโก่ง

คุณแม่อาจจะเคยได้ยินความเชื่อเหล่านี้มาบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความเชื่อที่ผิดค่ะ เพราะการใส่ผ้าอ้อมหรืออุ้มลูกเข้าเอวนั้นไม่ได้เป็นการทำให้ลูกขาโก่งแต่อย่างใด แต่แท้จริงแล้วเป็นการช่วยรักษาภาวะข้อสะโพกเคลื่อนได้ด้วย ส่วนเรื่องการดัดขานั้นค่อนข้างอันตรายมากทีเดียว เพราะอย่างที่บอกไปว่าเด็กตัวเล็กๆ เท้าและขายังไม่เข้าที่เข้าทาง การดัดขาอาจทำให้ลูกบาดเจ็บได้ค่ะ

ข้อมูลอ้างอิงจาก