เชื่อว่าคงมีคุณพ่อหลายๆ ท่านที่อยากจะช่วยแบ่งเบาภาระให้คุณแม่ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง หรืออาจจะไม่รู้ว่าการมีส่วนช่วยเลี้ยงดูลูกน้อยนั้นมีความสำคัญขนาดไหน วันนี้แม่แอร์มีหนังสือดีๆ มาแนะนำค่ะ
ก่อนอื่น เรามารู้จักกับหนังสือเล่มนี้กันก่อน หนังสือแนะนำวิธีเลี้ยงลูกแบบ Happy สำหรับคุณพ่อผู้ไม่มีเวลา เล่มนี้เขียนโดย นายแพทย์ ไดจิ อาเคะฮาชิ เป็นหนังสือในชุดแนะนำวิธีเลี้ยงลูกแบบ Happy ซึ่งหนังสือในชุดมีทั้งหมด 6 เรื่องด้วยกัน เดี๋ยวแม่แอร์จะแจ้งชื่อเรื่องไว้ที่ท้ายบทความนะคะ
ถึงจะเป็นจิตแพทย์ แต่คุณหมอก็เขียนหนังสือเล่มนี้จากประสบการณ์ตรงของตัวเองที่เป็นคุณพ่อลูกสอง ซึ่งคุณหมอก็ยอมรับว่าในช่วงที่งานยุ่งๆ นั้น ตนก็ไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัวเช่นกัน จากตอนแรกที่รู้ว่าจะต้องเขียนหนังสือเล่มนี้ ตนก็คิดว่าคงจะเขียนไม่ได้ แต่ก็ได้คำพูดของลูกสาวคนโตนั่นแหละมาเตือนสติว่า “ก็เอาความผิดพลาดของคุณพ่อมาเขียนซะไม่ดีเหรอ” อีกทั้งยังได้คำสนับสนุนจากภรรยาและลูกสาวคนเล็ก จึงเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาจนเสร็จสมบูรณ์ค่ะ
ถึงแม้จะรู้ว่าการให้พ่อมาช่วยเลี้ยงลูกนั้นเป็นเรื่องดี แต่ในทางปฏิบัติเราก็ไม่รู้ว่า แล้วจะให้พ่อช่วยเลี้ยงอย่างไรดีล่ะ คุณหมอจึงอธิบายง่ายๆ ดังนี้
- กลับบ้านให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ : แม้มาถึงจะไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่แค่อยู่เป็นกำลังใจและรับฟังคุณแม่บ้างก็ช่วยได้เยอะแล้วค่ะ
- เรื่องของตัวเองก็ทำเอง : อาทิ การเตรียมเสื้อผ้า การหาอาหารทานเอง รวมถึงการซักผ้าตากผ้าด้วยค่ะ
- ช่วยดูแลลูก เช่น พาลูกอาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม กล่อมลูกนอน และชวนลูกเล่น ซึ่งการเล่นกับลูกนั้น มีความสำคัญมากๆเลย คุณหมอกล่าวว่า การเล่นกับลูกโดยใช้ร่างกายจะทำให้ร่างกายลูกแข็งแรง (แต่ต้องไม่เล่นรุนแรงเกินไป) และช่วยสร้างสายสัมพันธ์ทางใจให้พ่อกับลูกได้แน่นแฟ้นมากขึ้น
นอกจากนี้ คุณหมอยังเน้นว่า การสื่อสารในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญและให้แนวคิดดังนี้ค่ะ
1. ผู้ชายส่วนใหญ่มักจะคิดถึง “เรื่องที่จะถ่ายทอด” ในขณะที่ผู้หญิงมักจะให้ความสำคัญกับ “การถ่ายทอดอารมณ์” ดังนั้น เมื่อคุณพ่อจะคุยกับคุณแม่ จึงควรรับฟังและพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของ คุณแม่ก่อน ส่วนคุณแม่เวลาจะคุยอะไรกับคุณพ่อ ก็ขอให้เน้นเฉพาะใจความที่สำคัญๆค่ะ
2. เล่าสถานการณ์ให้ฟัง ในขณะที่คุณพ่อออกไปทำงานนอกบ้าน แต่คุณแม่ต้องเลี้ยงลูกอยู่คนเดียว ทั้งสองคนต่างเหนื่อยเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อคุณแม่ระบายความในใจ คุณพ่อก็ควรจะฟัง และหากคุณพ่อเล่าสถานการณ์ความตึงเครียดที่ทำงานให้คุณแม่ฟังบ้าง คุณแม่ก็ควรรับฟัง จะได้เข้าใจและเป็นกำลังใจให้แก่กันค่ะ
3. Do & Don’t’ คำที่ควรพูดกับคุณแม่บ้าน
Do = กล่าวคำขอบคุณ และคำว่าอร่อยจัง คำพูดเพียงเล็กๆน้อยๆ แต่ก็ทำให้คุณแม่ชื่นใจ เพราะบางครั้งคุณแม่ก็ทำกับข้าวไม่เป็น แต่ก็พยายามฝึกทำ การได้รับกำลังใจเล็กๆน้อยๆ ก็จะทำให้คุณแม่สุขใจมากขึ้น
Don’t = ไม่พูดคำพูดเชิงปฏิเสธ เช่น “แต่” “แต่ว่า” เพราะจะทำให้คุณแม่คิดว่าพูดอะไรไปก็ถูกคุณพ่อปฏิเสธท่าเดียว แต่ควรจะพูดคำที่แสดงการสนับสนุน เช่น “นั่นสินะ” “เป็นอย่างนี้นี่เอง” แล้วจึงค่อยพูดความคิดเห็นของตัวเอง วิธีนี้จะทำให้คุณแม่ไม่รู้สึกว่าถูกปิดการสนทนาตั้งแต่เริ่มแรก
ข้อดีของหนังสือเล่มนี้
- ทำให้คุณพ่อบ้านเข้าใจและเห็นความสำคัญของตัวเองต่อคนในครอบครัว
- มีรูปประกอบเป็นตัวการ์ตูนทำให้เข้าใจได้ง่าย
- เหมาะที่จะอ่านทั้งคุณพ่อและคุณแม่ เพื่อให้เข้าใจบทบาทของกันและกันมากขึ้น
- มีแบบประเมินโรคซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งคุณพ่อมีส่วนช่วยคุณแม่มากๆ ค่ะ เพียงแค่รับฟัง ช่วยแบ่งเบางานในบ้าน และพูดให้กำลังใจ คุณแม่ก็จะค่อยๆ คลายจากความวิตกกังวลที่มีอยู่
- มีคำถาม-คำตอบจากครอบครัวทางบ้าน ทำให้เราเข้าใจปัญหาและวิธีแก้ของแต่ละบ้านเพิ่มมากขึ้น
หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมานานแล้วนะคะ แต่ก็เป็นหนังสือขายดีในญี่ปุ่น อย่างเล่มที่แม่แอร์ถืออยู่ก็พิมพ์เป็นครั้งที่ 3 ในปี 2555 แต่เนื้อหาก็ยังใช้ได้และเป็นปัจจุบันจึงนำมาฝากกัน
ถึงแม้ว่าคุณพ่อบ้านของแม่แอร์จะช่วยแบ่งเบางานในบ้านไปหลายอย่างเลย แต่แม่แอร์ก็คิดว่าต่อไปจะตั้งใจรับฟังปัญหาที่ทำงานของพ่อมากขึ้น และเวลาพูดคุยกัน ก็จะพูดเฉพาะเนื้อๆ เน้นๆ บ้างแล้วล่ะค่ะ ใครอ่านเล่มนี้แล้วดียังไง แวะมาคุยกันบ้างนะคะ
ข้อมูลหนังสือ : แนะนำวิธีเลี้ยงลูกแบบ Happy สำหรับคุณพ่อผู้ไม่มีเวลา
ผู้เขียน : ไดจิ อาเคะฮาชิ
สนพ. : รักลูก / ราคา 220 บาท
หนังสือในชุด แนะนำวิธีเลี้ยงลูกแบบ Happy
- แนะนำวิธีเลี้ยงลูกแบบ Happy
- แนะนำวิธีเลี้ยงลูกแบบ Happy เล่ม 2 เลี้ยงลูกให้เปล่งประกายเป็นที่รักของทุกคน
- แนะนำวิธีเลี้ยงลูกแบบ Happy เล่ม 3 เลี้ยงลูกให้ใจกล้าแกร่ง
- วิธีเลี้ยงลูกแบบ Happy สำหรับแนะนำเด็กวัย 10 ปีขึ้นไป
- แนะนำวิธีเลี้ยงลูกแบบ Happy สำหรับคุณพ่อผู้ไม่มีเวลา
- แนะนำวิธีเลี้ยงลูกแบบ Happy ฉบับโรคภัยไข้เจ็บในเด็ก
รักคนอ่านค่ะ
แม่แอร์
Facebook Fanpage : เลี้ยงลูกเชิงบวก , หาเพื่อนอ่าน (สำหรับรีวิวหนังสือ)