การดื้อเป็นเรื่องปกติที่เด็กบางคนอาจจะเป็น แต่ถ้าเกิดว่าลูกดื้อมากผิดปกติ อาจเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคดื้อต่อต้านได้ และถ้าหากปล่อยไว้เรื่อยๆ โดยไม่แก้ไข เมื่อโตขึ้นลูกอาจเสี่ยงเป็นคนเกเรและก้าวร้าว
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า การเข้าถึงบริการของเด็กที่เป็นโรคจิตเวช โดยเฉพาะ “โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน” (Oppositional Defiant Disorder) ยังเข้ารับบริการน้อย
สำหรับพฤติกรรมดื้อตามวัยนั้นพบได้ในเด็กปกติช่วงอายุ 2-3 ปี เมื่ออายุมากขึ้นอาการดื้อจะหายไป แต่ในโรคดื้อนี้จะมีการแสดงออกรุนแรงมากขึ้น อารมณ์ไม่ดีต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป โดยจะแสดงอาการเด่นๆ คือ
- แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา
- เถียงหรือชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ
- ท้าทายและฝ่าฝืนคำสั่งและกฎเกณฑ์บ่อยๆ
- ตั้งใจทำให้คนอื่นรำคาญ
- โทษหรือโยนความผิดให้คนอื่นบ่อยๆ
- หงุดหงิดและอารมณ์เสียง่าย
- โกรธและไม่พอใจบ่อยๆ
- เจ้าคิดเจ้าแค้นอาฆาตพยาบาท
ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กอายุ 13-17 ปี ในปี 59 พบเด็กป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 2 หรือประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ ในเด็กชายพบร้อยละ 2.3 เด็กหญิงร้อยละ 1.7 ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันทั้งตัวเด็กเองที่มีพื้นฐานอารมณ์ร้อนและสภาพแวดล้อม เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี ใช้ความรุนแรง การตั้งกฎระเบียบที่ไม่สม่ำเสมอของพ่อแม่
ที่น่าเป็นห่วง พบว่ายังมีพ่อแม่มีความเชื่อผิดๆ คิดว่าเด็กดื้อตามปกติ จึงไม่ได้พาไปรักษา และใช้วิธีดูแลตามความเชื่อเดิมๆ ซึ่งรังแต่จะทำให้พฤติกรรมแย่ลงไปอีก คือ 1.ปล่อยไปตามธรรมชาติ เด็กน่าจะดีขึ้นเอง 2.ไม่ขัดใจลูก เพราะกลัวลูกจะเครียด กลัวลูกออกจากบ้าน 3.ลงโทษรุนแรงเพื่อดัดนิสัย 4.ส่งไปอยู่กับญาติ หรือส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ เพื่อดัดนิสัย
ดังนั้นวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด คือ พาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อบำบัดพฤติกรรม ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัว โดยฝึกพ่อแม่ให้ปรับพฤติกรรมเด็กอย่างเหมาะสมถูกต้อง และที่สำคัญคือ ไม่ควรลงโทษด้วยการทุบตีอย่างรุนแรง หรือด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย เพราะเป็นการเพิ่มความก้าวร้าวให้เด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และหากเด็กไม่ได้รับการรักษา โตขึ้นจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว เกเร เสี่ยงต่อการเสพและติดสารเสพติดได้ง่าย
อ้างอิงจาก