จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 2565 มีผู้ป่วยที่เป็นไข้ซิกาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสซิกาทางอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น การแพร่ผ่านทางเลือด การแพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์ รวมไปถึงจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ มีผื่นแดงตามลำตัวและแขนขา เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง และเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที
** ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก (microcephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้
ที่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงหน้าฝน และมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย
กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค มาตรการนี้ยังสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้อีกด้วย
- การเก็บบ้าน/โรงเรียน ให้สะอาดจะป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก
- เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
- เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน/โรงเรียน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
- รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดด้วยการทายากันยุง
- นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 อย่างไรคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องช่วยกันดูแลลูกๆ ที่เป็นเด็กน้อยให้มากๆ ด้วยนะคะ เพราะยุงลายนั้นน่ากลัวจริงๆ ค่า
ขอขอบคุณแหล่งอ้างอิง : https://bit.ly/3dc6gnD