จากการรายงานข่าวการระบาดของโรคหัดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในตอนนี้พบผู้ป่วยโรคหัดแล้วกว่า 1,000 ราย สำหรับในประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคหัด 1,801 ราย เสียชีวิต 12 ราย ซึ่งในขณะนี้ กรมควบคุมโรค ได้ติดตามสถานการณ์ของโรคหัดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด
โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในจมูกและลำคอผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือ ไข้ออกผื่น โดยมักมีอาการไข้สูงประมาณ 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น ประมาณ 2-3 วัน ไข้จะค่อยๆ ลดลง และผื่นก็จะค่อย ๆ จางหายไป
ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกเป็นขุยหรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคหัดมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากกว่าร้อยละ 95 ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมันจำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็ก อายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง
นอกจากนี้ยังได้กำหนดรณรงค์ให้วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ในเด็กอายุ 1-7 ปี โดย
กลุ่มที่ 1 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1, 2 และ 5 ในช่วงเดือน กันยายน – ตุลาคม 2562
กลุ่มที่ 2 พื้นที่เขตสุขภาพที่ 3, 4, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12 และกรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือน มกราคม – มีนาคม 2563
และการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน (MR) ในเด็กอายุ 7-12 ปี ทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ โดยให้วัคซีนพร้อมกันทุกจังหวัด ในช่วงเดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2562 โดยสามารถพาบุตรหลานของท่านที่ได้รับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ไม่ครบตามเกณฑ์ ไปรับวัคซีนได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านท่านในช่วงเดือนที่มีการรณรงค์
อ่านเพิ่มเติม
https://ddc.moph.go.th/th/site/newsview/view/6646