วันลอยกระทงเป็นวันที่พ่อแม่มักจะพาเด็กๆ ไปใกล้แหล่งน้ำมากที่สุด เพื่อร่วมสืบสานประเพณีและขอขมาแก่พระแม่คงคา ซึ่งนั้นทำให้อาจเกิดอุบัติเหตุกับเด็กๆ ได้ โดยเฉพาะการจมน้ำซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เนื่องจากเด็กมีความเสี่ยงที่จะพลัดตกลื่นลงน้ำได้
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่มาลอยกระทง ได้มีการประชาสัมพันธ์ และเตรียมการป้องกันอุบัติเหตุ โดยตรวจเตือน ป้องกัน แก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุต่าง ๆ และให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากการจราจร การเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ โดยเฉพาะการจมน้ำ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลมรณบัตรของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน โดยกรมควบคุมโรค ย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2551 – 2560 พบว่า ช่วงเทศกาลลอยกระทง 3 วัน คือ ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง มีคนจมน้ำเสียชีวิตสะสม 380 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีถึง 94 คน เฉพาะวันลอยกระทงวันเดียวมีคนจมน้ำเสียชีวิตสะสมสูงถึง 145 คน โดยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 43 คน เฉลี่ยวันละกว่า 4 คน ซึ่งมากกว่าในช่วงวันปกติ 2 เท่าตัว
ดังนั้นจึงขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปีอย่างใกล้ชิด ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและคว้าถึง อย่าปล่อยให้เด็กลอยกระทงตามลำพัง ไม่ว่าจะในกะละมัง ถังน้ำ หรือแหล่งน้ำอื่น ๆ และสอนให้ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” โดยอย่าใกล้ : อย่ายืนใกล้ขอบบ่อ อย่าเก็บ : อย่าลงน้ำไปเก็บเงินในกระทง และอย่าก้ม : อย่าก้มไปลอยกระทง
อ้างอิงจาก