กอดลูกไม่ว่าจะช่วงวัยไหนก็มีความสำคัญและส่งผลดีต่อทั้งตัวลูกและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรกเพราะลูกจะสามารถรับรู้และยอมรับถึงความรักความอบอุ่นของคุณพ่อคุณแม่ได้ง่ายกว่าตอนโตมาก วันนี้จะมาบอกเล่าข้อดีของการโอบกอดลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงลูกเริ่มโต ไปดูกันว่าจะมีข้อดีอะไรบ้าง
1. การโอบกอดลูกน้อยตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก
การกอดทารกและสัมผัสตั้งแต่แรกเกิด จะช่วยให้ทารกรู้สึกอุ่นสบายและมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น หลังจากต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขณะคลอด
เหตุผลที่คุณแม่ควรกอดเจ้าตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก เพราะเขาต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งอุณหภูมิที่ไม่คงที่ ร้อนหรือเย็นเกินไป แสงสว่างที่ดวงตาไม่คุ้นชิน ทำให้ทารกรู้สึกกังวลและไม่ปลอดภัย จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมทารกแรกเกิดจึงร้องไห้เสียงดังและจะเงียบลงเมื่อได้รับความอบอุ่นและการโอบกอดของแม่
2. การโอบกอดลูกน้อยในช่วง 6 เดือนแรก
การโอบกอดลูกในช่วงแรกเกิดจนถึง 6 เดือนแรกนั้น คุณแม่ควรโอบกอดลูกทุกวัน วันละหลายๆ ครั้งผ่านการให้นมลูก เพราะในช่วงเดือนแรกๆ สายสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่จะเริ่มมีมากขึ้น เป็นความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างแม่กับลูกหรือพ่อกับลูก
โดยเฉพาะในขณะที่ทารกน้อยกำลังดูดนมจากอกแม่ หากพูดคุยและสัมผัสตัวเขา แสดงออกว่าถึงความรัก ลูกน้อยจะสามารถรับรู้และสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้นได้ ทำให้สายสัมพันธ์ของคุณแม่กับลูกจะทวีความแน่นแฟ้นมากขึ้น และส่งผลให้พัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกดีมาก ทำให้เป็นเด็กร่าเริงสดใส
3. การโอบกอดลูกในช่วง 7 เดือน-1 ขวบครึ่ง
ในช่วงที่ลูกอายุ 7 เดือนเป็นต้นไป สิ่งรอบตัวจะเป็นตัวกระตุ้นความสนใจของเขาได้เป็นอย่างดี เด็กจะเริ่มเล่น ยิ้ม หัวเราะกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น เมื่อเด็กที่ได้รับความรักอย่างสม่ำเสมอ จะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายและภาวะทางด้านอารมณ์ดีกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยคนอื่น
ยิ่งพอถึงวัยที่เขาเริ่มนั่ง ลุกขึ้นเดิน ในทุกย่างก้าวของพัฒนาการ หากมีคุณพ่อคุณแม่คอยอยู่ข้างๆ สัมผัสและโอบกอดเขาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งคอยให้กำลังใจและชื่นชมในความก้าวหน้าและความสำเร็จเล็กๆ ของเขา เขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ มองโลกในแง่ดี และเป็นเด็กที่มีภาวะอารมณ์ที่ดีเช่นกัน
4. การโอบกอดลูกรักอายุ 1 ขวบครึ่ง-3 ขวบ
เด็กยังคงต้องการการโอบกอดจากคุณพ่อคุณแม่เหมือนเดิม แต่หากตลอดเวลาคุณแทบจะไม่เคยโอบกอดเขาเลย แล้วเพิ่งเริ่มโอบกอดเขา เขาอาจจะไม่ยอมให้คุณโอบกอดเขาแล้ว เนื่องจากเด็กในวัยนี้จะเริ่มสนใจโลกภายนอกมากขึ้น แต่การเริ่มกอดจะเป็นภูมิคุ้มกันจากความกลัวให้ลูกได้
คุณพ่อคุณแม่ควรกอดลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อลูกเข้าสู่วัยนี้ อาจจะไม่ยอมให้คุรกอดเหมือนตอนเล็กๆ เพราะไม่คุ้นชินกับสัมผัสอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่มาก่อน เขาจะเลือกสนใจสิ่งรอบตัวมากกว่า แต่ถ้าลูกเติบโตมาพร้อมกับความผูกพันและการโอบกอดด้วยความรัก เด็กจะเติบโตเป็นเด็กที่มีทัศนคติที่ดี อารมณ์ดี และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะรู้ว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างเขาตลอด
5. การโอบกอดลูกรักอายุ 3 ขวบเป็นต้นไป
หลังจาก 3 ขวบเป็นต้นไป โลกของเขาจะไม่ได้มีเพียงคุณพ่อคุณแม่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เขาจะพบกับสิ่งใหม่ๆ เพื่อนใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ ซึ่งการโอบกอดลูกจะทำให้เขาลูกรู้จักเห็นคุณค่าในตัวเอง และมีกำลังใจในการทำกิจกรรมอื่นๆ
เมื่อเด็กโตขึ้น การจะเข้าไปโอบกอดเขาภายหลังทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยกอดเขาเลย ก็ถือเป็นเรื่องยาก เพราะเด็กจะรู้สึกแปลกหรือเขินเมื่อถูกพ่อแม่กอด แต่ถ้าเรากอดเขาตั้งแต่เด็กๆ เขาจะไม่รู้สึกเขินเมื่อพ่อแม่แสดงความรัก ลูกจะมีสายสัมพันธ์กับครอบครัวอย่างเหนียวแน่น เพราะกอดเป็นภาษากายที่ใช้ทดแทนความรู้สึกหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะ เป็นห่วง คิดถึง ขอบคุณ ขอโทษ แม้ไม่ได้สื่อสารด้วยวาจา การกอดและการลูบหลังเบาๆ เป็นภาษากายที่แทนคำว่าห่วงใย
อย่างไรก็ตามการโอบกอดลูก ตั้งแต่แรกเกิดหรือตอนเติบโต ก็คือการแสดงออกถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก ดังนั้นอย่าเพิ่งหมดกำลังใจไป หากคุณไม่ได้ดูแลเขา หรือไม่ได้กอดเขาตั้งแต่แรกเกิดแล้ววันนี้ลูกรักกลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ ดื้อและเอาแต่ใจ คุณควรเริ่มจากการพูดคุย สัมผัสตัวลูก โอบกอด เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่าพวกคุณรักและห่วงใยเขามากแค่ไหน ลูกจะรับรู้และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงมีภาวะด้านอารมณ์ดีขึ้นด้วย
ที่มา – honestdocs