ลูกน้อยวัยเด็กแรกเกิดนั้นถือว่าเป็นวัยที่รักการเรียนรู้ พร้อมเล่นนู่นเล่นนี่ตลอดเวลา ทุกการขยับและเคลื่อนไหวนั้น อาจจะทำให้ลูกเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ถ้ายังปล่อยให้ลูกทำหรือมีสภาพแวดล้อมแบบนี้อยู่
ปล่อยให้อยู่ตามลำพัง
บางทีคุณแม่อาจจะเดินแว่บหายไป เช่น ไปดูทีวี รับโทรศัพท์ ปล่อยให้ลูกน้อยอยู่คนเดียว เพียงแค่เสี้ยวนาทีอาจเกิดอุบัติเหตุทำให้ลูกเสียชีวิตได้ ทางที่ดีให้คนอื่นช่วยดู อย่างน้อยยังอยู่ในสายตาผู็ใหญ่ก็สามารถช่วยลูกได้ทันท่วงทีค่ะ
ของมีคมอยู่ใกล้ตัวลูกน้อย
ลูกน้อยอยู่ในวัยที่พร้อมจะหยิบนู่นจับนี่มาเล่นอยู่แล้ว ถ้าเกิดเผลอหยิบไปโดนของมีคม เช่น มีด กรรไกร คัตเตอร์ ฯลฯ แล้วอาจจะทำให้บาดเจ็บได้ ทางที่ดี คุณแม่ควรนำของมีคมให้ห่างจากลูกน้อยไปเลยดีกว่าค่ะ
ไม่สังเกตลูกน้อยเมื่อผิดปกติ
เมื่อลูกยังเล็กมาก โดยเฉพาะอยู่ในวัยที่ยังไม่สามารถพูดได้ คุณแม่จะต้องคอยสังเกตตลอดเวลาว่ามีความผิดปกติอันใดเกิดขึ้นกับลูกบ้าง จะได้ช่วยลูกได้อย่างทันเวลาพอดีค่ะ ถ้าไม่สังเกตให้ดีๆ แปบๆอาจจะคลานไปไหนแล้วก็ไม่รู้ก็ได้ แล้วอุบัติเหตุก็จะเกิดขึ้นโดยไม่ทันได้ตั้งตัวเลยล่ะค่ะ
ปลั๊กไฟอยู่ต่ำเกินไป
ปลั๊กไฟที่อยู่ในระดับที่ต่ำเกินไปจนลูกน้อยสามารถสัมผัสได้นับว่าอันตรายเป็นอย่างมาก เพราะลูกสามารถเอามือแหย่เข้าไปในรูปลั๊กไฟแล้วช๊อตได้ทุกเมื่อ แต่บางทีก็ใช่ว่าจะย้ายตำแหน่งปลั๊กได้ทันทีเสมอไป คุณแม่สามารถหาซื้อที่ครอบปลั๊กไฟมาครอบปลั๊กไฟที่อยู่ต่ำเกินไปได้นะคะ
เปิดประตูทิ้งไว้
การที่ประตูเปิดอยู่นั้นมีโอกาสทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ซึ่งการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเป็นการโดนประตูหนีบ ไม่ว่าจะเป็นหนีบที่มือ เท้า นิ้วมือหรือที่คอ ตัวอย่างเช่น ลูกเอานิ้วแหย่เข้าไปในช่องหรือรู จนติดตามรูร่องช่องหลืบต่างๆ บางครั้งลูกอาจจะเห็นประตูเป็นของเล่น พากันเปิดปิดกันเพื่อเล่นซ่อนหาบ้าง จ๊ะเอ๋บ้าง เล่นเพลินๆ ก็อาจจะพลาดโดนประตูฟาดเข้าที่ใบหน้าหรือศีรษะ เกิดเลือดกำเดาไหล ใบหน้าบวมช้ำ หรือหน้าผากปูดโนก็เป็นได้ ดังนั้นคุณแม่อาจจะต้องเฝ้าระวังเจ้าตัวเล็กไม่ให้ไปเล่นกับประตูพวกนี้ พาไปเล่นในพื้นที่เล่นสำหรับเด็กน่าจะเหมาะมากกว่าค่ะ
จับลูกนั่งตักขณะขับรถ
เพราะถ้าคุณแม่จับลูกนั่งตักขณะขับรถแบบนี้เวลาเกิดอุบัติเหตุ เช่น รถชน ลูกน้อยของคุณมีโอกาสที่จะพุ่งทะลุกระจกออกไปนอกรถได้สูง เพราะไม่มีเข็มขัดนิรภัย ทางที่ดีคุณแม่ควรหาคาร์ซีทให้ลูกนั่งเวลาอยู่ในรถจะปลอดภัยมากที่สุดค่ะ
จับลูกขึ้นสูงๆ แล้วเขย่าลูกแรงๆ
การจับลูกขึ้นสูงๆ แล้วเขย่าลูกแรงๆ นั้นไม่ปลอดภัยสำหรับลูกแน่นอน เนื่องจากกล้ามเนื้อและกระดูกส่วนคอของลูกนั้น ยังไม่แข็งแรงพอ การทำแบบนี้ อาจเสี่ยงต่อการเกิดเลือดคั่งในสมอง ถึงขั้นตาบอดได้เลยทีเดียว เพราะเลือดออกในประสาทตา หรืออาจเกิดความพิการอื่นๆ แม้กระทั่งเสียชีวิตเลยก็เป็นได้ ดังนั้นอย่าเล่นกับลูกแรงเกินไปจะดีที่สุดค่ะ
จับลูกห้อยหัว
การเล่นกับลูกโดยการจับลูกห้อยหัวแบบนี้เสี่ยงมากที่จะพลาดทำลูกตกลงมาจากมือได้นะคะ หัวจะกระแทกพื้นทำให้หัวปูด หรือหัวแตก แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ มีเลือดคั่งในสมองได้ค่ะ เห็นแบบนี้แล้ว ท่านี้หลีกเลี่ยงดีกว่านะคะ
เล่นวิ่งไล่จับกับลูกด้วยความเร็วสูง
ถึงแม้ว่าการวิ่งเล่นนั้นจะส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อก็จริง แต่ถ้าเล่นรุนแรงเกินไปอาจเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น หกล้มหน้าคว่ำ ฟันหัก เหงือกฉีก ลื่่นล้มจนแขนหัก ขาหัก แต่ถ้าร้ายแรงกว่านั้นคือ หัวฟาดพื้นสมองได้รับการกระทบกระเทือนเลยก็เป็นได้ เรื่องของการวิ่งแล้วตัวไปปะทะกับรถก็สำคัญ ถ้าวิ่งเล่นกันบนทางเดินแล้วเกิดพลาดพลั้งก็อาจจะโดนรถเฉี่ยวชนเอาได้ หรือการหยอกเล่นกัน หรือเดินโดยไม่ได้ระวังรถที่ขับถอยหลัง จนอาจโดนรถถอยทับได้ค่ะ
หยอกล้อหรือเล่นกันบนบันไดเลื่อน
การที่ลูกน้อยเอามือไปปั่นสายพานราวจับบันได วิ่งขึ้นลงสวนทางบันไดเลื่อน หยอกล้อกันบนบันไดเลื่อน เอาเท้าไประบริเวณขอบทางบันไดเลื่อน หรือยึดพื้นที่บริเวณทางขึ้นลงบันไดเลื่อนเป็นที่เล่นนั้น ล้วนเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บทั้งสิ้นนะคะ ไม่ว่าการที่อวัยวะเข้าไปติดกับราวบันไดเลื่อนจนเกิดแผลฉีกขาด หรือถึงขั้นการสูญเสียอวัยวะ การพลัดตกหกล้มจากบันได ถูกชนกระแทกจากผู้ใช้บันไดเลื่อนขึ้นลง หรือกรณีที่รุนแรงที่สุด คือการที่ศีรษะเข้าไปติดระหว่างซอกบันไดเลื่อนกับพื้นชั้นบน ดังนั้น คุณแม่ต้องไม่ปล่อยให้เด็กเล่นกันบริเวณบันไดเลื่อน แนะนำและแสดงให้ลูกน้อยดูถึงวิธีการใช้บันไดเลื่อนที่ถูกต้อง ระวังชิ้นส่วนของเสื้อผ้า รองเท้า ที่อาจเข้าไปเกี่ยวพันกับบันไดเลื่อน และหากเป็นเด็กเล็กก็ไม่ควรปล่อยให้ขึ้นบันไดเลื่อนตามลำพังค่ะ
เหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คุณแม่สามารถป้องกันได้แต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้ลูกนั้นเกิดอันตรายนะคะ แค่เอาใจใส่กับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพียงเท่านี้ก็ทำให้ลูกน้อยอยู่ในโซนของความปลอดภัยแล้วล่ะค่ะ
ที่มา