เพราะเป็นเด็ก จึงไม่แปลกที่จะเจ็บตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจอยู่เสมอ คุณแม่ควรมีความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไว้ช่วยเหลือเด็ก ๆ ในกรณีที่เกิดเหตุการฉุกเฉินไม่คาดคิด
เลือดกำเดา
- ให้เด็กก้มหน้าลง จะเป็นนั่งหรือยืนก็ได้แต่ห้ามนอน
- ใช้นิ้วกดจมูกด้านที่เลือดกำเดาไหล
- ใช้ความเย็นประคบดั้งจมูก 1-2 นาที
- หากเลือดยังไม่หยุด ให้ใช้ผ้านุ่ม ๆ สอดเข้าไปในรูจมูกข้างที่เลือดออกทิ้งไว้สักครู่ใหญ่ สังเกตดูว่าเลือดหยุดไหลหรือยัง
- กรณีเลือดไหลไม่หยุดเกินครึ่งชั่วโมงขึ้นไปต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
มีดบาด
- ต้องห้ามเลือดก่อน
- ทำความสะอาดแผล และใส่ยาเหมือนแผลถลอก
หากเป็นแผลใหญ่เมื่อห้ามเลือดแล้วควรรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล เพราะอาจต้องเย็บแผล สำหรับแผลที่สกปรกมาก หรือสิ่งที่บาดนั้นมีสนิมต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก หากเลือดออกมากใช้วิธีกดห้ามเลือดไม่ได้ผล ให้ใช้วิธีรัดส่วนเหนือของแผลด้วยผ้าแล้วใช้ไม้สอดเข้าไปในผ้านั้น พร้อมหมุนไม้ไปทางเดียวกันขันจนแน่น
การห้ามเลือดวิธีนี้จะปิดกั้นไม่ให้เลือดไหลผ่านบริเวณที่มีบาดแผลทำให้เลือดหยุดไหลแต่ต้องคลายผ้าเป็นระยะเพื่อป้องกันเนื้อเยื่อตาย เช่น รัดนาน 5 นาที คลายออก 1 นาทีและรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
จมน้ำ
- ช่วยเด็กขึ้นมากจากน้ำให้เร็วที่สุด และดูว่ายังหายใจ รู้สึกตัวอยู่หรือไม่
- ห้ามนำเด็กขึ้นพาดบ่า เพราะท่านี้ไม่สามารถทำให้น้ำไหลออกมาจากปอดได้
- ควรปฐมพยาบาลเด็กด้วยการผายปอดอย่างถูกวิธี
- รีบนำลูกส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
ชัก
ควรทำ
- ตั้งสติ
ก่อนอื่นต้องตั้งสติให้มั่น อย่ามัวตกใจเกินไป เพราะการปฐมพยาบาลจะเป็นไปอย่างร้อนรน และอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้
- นอนในที่โล่ง
ขณะที่ชักหากลูกอยู่บนที่สูงหรือบริเวณที่มีสิ่งของวางกระจัดกระจายอยู่ใกล้ๆ ต้องนำลูกไปนอนในที่โล่งๆ เพื่อป้องกันลูกตกจากที่สูง หรือป้องกันมือฟาดไปโดนสิ่งของตกลงมากระแทกตัวลูก
- นอนตะแคง
เพื่อป้องกันเสมหะ อาหาร ลิ้น หรือน้ำลายอุดตันหลอดลม ควรให้ลูกนอนตะแคงศีรษะต่ำเล็กน้อย หรือนอนหงายแล้วหันศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่ง
- ปลดเสื้อผ้าให้หลวม
คลายเสื้อผ้าของลูกออก เพื่อไม่ให้อึดอัดและสะดวกต่อการปฐมพยาบาล
- เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น
หาก มีไข้สูง คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น ตามซอกขาหนีบ รักแร้ ซอกคอ และศีรษะ คอยเปลี่ยนผ้าให้เย็นอยู่เสมอ เพื่อให้ไข้ลดลงโดยเร็วที่สุด ซึ่งอาการชักจากไข้จะเป็นอยู่ไม่นานเกิน 15 นาทีและจะหยุดเอง
- ส่งโรงพยาบาล
ถ้าชักเกิน 10 นาที หรือชักซ้ำ ขณะที่ลูกยังไม่ฟื้นเป็นปกติควรรีบนำลูกส่งโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุและรักษาให้ถูกต้องต่อไป
ไม่ว่าอาการชักของลูกจะมาจากสาเหตุอะไร คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรไว้วางใจ เมื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันผลเสียหายต่อสมองที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ห้ามทำเด็ดขาด
- อย่าอุ้มเด็กขึ้นมากอดไว้ขณะเด็กชัก
- อย่าเขย่าหรือตีลูก
- อย่าใช้นิ้วมือของตัวเองสอดเข้าไปในปากลูก
- อย่าฝืนง้างปากลูก เพราะอาจทำให้ฟันและขากรรไกรหักได้
อาหารติดคอ
- คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติให้ดี
- จับลูกพาดแขนหรือขา โดยให้ส่วนหัวต่ำกว่าลำตัว
- ใช้มือกระแทกที่กลางหลังลูก ความแรงขึ้นอยู่กับลำตัวและอายุของลูก กระแทกติดกันเร็ว ๆ 5 ครั้ง
- เปิดปากลูกให้กว้างพอและดูว่ามีอะไรอยู่ในปากให้รีบเอาออก แต่ถ้ามองไม่เห็นไม่ต้องใช้มือควานเข้าไปดู เพราะนิ้วมืออาจดันสิ่งของนั้นเข้าไปลึกกว่าเดิม
- ถ้ามองไม่เห็นสิ่งของในปากลูก จับลูกนอนหงายราบศีรษะไปกับพื้นอย่าให้หัวอยู่สูงกว่าตัวเด็ดขาด ใช้นิ้วกลางและนิ้วชี้กระทุ้งหน้าอกลูกเร็ว ๆ 5 ครั้ง
- ทำซ้ำกันจนกว่าของจะออกระหว่างที่ทำให้รีบเรียกรถพยาบาลด่วน หรือรีบพาลูกไปโรงพยาบาล
แมลงเข้าหู
- ต้องทำให้แมลงตายโดยใช้น้ำมันพืช หยอดเข้าไปในหู
- ทิ้งไว้สักครู่แมลงจะตายและลอยขึ้นมา
- ตะแคงหูเพื่อให้แมลงและน้ำมันไหลออกมาให้หมด
- ใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดอีกครั้ง
หัวโน
- ถ้ามีอาการหัวปูด หัวโน รอยฟกช้ำ ควรประคบเย็นให้ลูก จะช่วยให้เลือดหดตัว และลดอาการบวมได้
- ถ้ามีบาดแผล ปากแตกหัวแตก ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดก่อนและประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม
- แขน-ขา แพลง ถ้ามีอาการบวมก็ใช้การประคบเย็นก่อน แต่ถ้าไม่แน่ใจว่ากระดูกจะเป็นอะไรหรือเปล่าให้พาลูกส่งโรงพยาบาล
ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- ฉีดหรือตัดผ้าบริเวณที่โดนน้ำร้อนลวกออก
- เสื้อผ้าที่โดนไฟไหม้ ถ้าติดที่แผลแล้วไม่ต้องดึงออก
- ถอดเครื่องประดับออกจากตัวให้หมด เพราะแผลจะบวมในภายหลัง
- บริเวณที่โดนไฟไหม้ หรือ น้ำร้อนลวกควรทำให้เย็นลงให้เร็วที่สุด