คุณพ่อคุณแม่อาจจะพบเจอปัญหาหนูน้อยจอมดื้อและหาวิธีปราบเจ้าตัวน้อยกันต่างๆ นานา ซึ่งข้อมูลของคุณหมอกล่าวว่า การที่เด็กดื้อหรือซนนั้นเกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น เด็กแต่ละคนนั้นเกิดมาไม่เหมือนกัน และแต่ละคนก็มีพื้นฐานทางด้านอารมณ์ที่แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งช่วงอายุ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กดื้อ โดยเฉพาะในช่วยอายุ 1-3 ปี เพราะเขาจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงนนั้นเองค่ะ
และปัญหาที่มักเจอสำหรับคุณแม่ๆ นั้นก็คือ การที่ไม่ว่าจะพูดกับเด็กๆ ยังไง เขาก็ไม่ยอมฟังเอาเสียเลย กับทำตรงข้ามที่บอก วันนี้ทาง Parentsone จึงได้รวบรวมคำพูดที่เมื่อพูดกับลูกแล้วยิ่งทำให้หนูน้อยยิ่งดื้อ เพื่อนำไปปรับใช้กับเด็กๆ ที่บ้านของคุณแม่ๆ กัน ไปดูกันเลยค่ะ
-
หยุดเดี๋ยวนี้นะ ไม่งั้น พ่อ/แม่จะ…
การขู่ลูกเป็นการแก้ปัญหาแบบสั้นๆ ยิ่งคุณเป็นคนที่ขู่แต่ไม่ทำตาม เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ว่า สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ขู่นั้นไม่ได้มีความหมายเท่าไหร่ หรือการที่ขู่ในส่ิงที่เป็นไปไม่ได้ นานๆ ไปเด็กๆ ก็จะไม่เชื่อฟังในคำพูดของคุณพ่อคุณแม่อีกต่อไป ในทางกลับกัน ควรเปลี่ยนการพูด และบอกให้ลูกรู้ว่า ถ้าทำสิ่งนั้นแล้วผลจะเป็นอย่างไรมากกว่าค่ะ
-
อย่า!!!
ยิ่งพูดคำว่าอย่า เด็กๆ ก็ยิ่งไม่เชื่อฟัง เช่น ” อย่าซน ” ” อย่าดื้อ ” ซึ่งหลายบ้านก็มักจะติดปากพูดคำๆ นี้เสมอ และจิตใต้สำนึกของเด็กๆ ก็จะรับรู้คำว่า “ดื้อ” และ “ซน” เข้าไปจนบางครั้งเด็กๆ ก็เชื่อว่าเขานั้นดื้อและซนจริงๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนวิธีพูด เช่น ” อย่าเสียงดัง ! ” เป็น ” พูดเบาๆ นะคะลูก ” เป็นต้น
-
ทำไมไม่ทำตัวน่ารักแบบน้องบ้าง
การที่เด็กๆ ถูกเปรียบเทียบ มันไม่ได้เป็นแรงผลักดันให้เด็กๆ รู้สึกผลักดันทำในสิ่งที่ดีๆ เพราะส่วนใหญ่เด็กๆ มักจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เด็กๆ มักจะรู้สึกโกรธ รู้สึกอิจฉา หรือแสดงพฤติกรรมต่อต้านอย่างรุนแรงนั้นเองค่ะ แทนที่จะเปรียบเทียบกับคนอื่นหรือพี่น้องด้วยกัน คุณพ่อคุณแม่ลองให้กำลังใจในส่ิงที่เด้กๆ ได้ทำหรือพยายาม และชื่นชมในส่ิงที่ลูกเป็น จะเป็นทางที่ดีกว่าการเปรียบเทียบนะคะ
-
เดี๋ยว ๆ รอให้พ่อ/แม่ กลับบ้านก่อนเถอะ!
เชื่อได้เลยว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่หลายบ้านก็ยังใช้คำๆ นี้อยู่ แต่บอกได้เลยนะคะว่า มันเป็นการทำลายอำนาจของคุณทางอ้อม ซึ่งเป็นการบอกว่า คุณไม่สามารถรับมือกับพฤติกรรมของพวกเขาได้ การที่ใช้คำนี้บ่อยๆ จะทำให้เด็กๆ ไม่เคารพและเชื่อฟังสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูดอยู่นั้นเองค่ะ
-
ทำแบบนี้เดี๋ยวไม่รักนะ
เด็กๆ เขาไม่รู้หรอกว่าทำอะไรแบบไหนแล้วจะถูกใจคุณพ่อคุณแม่ บางครั้งเราให้เขาทำอะไรไปก็อาจจะมีช้า หรือโอ้เอ้กันไปบ้าง และด้วยความหงุดหงิดของคุณพ่อคุณแม่เองก็อาจจะเผลอพูดคำๆ นี้ออกไป “คำว่าเดี๋ยวไม่รัก” มันเป็นเหมือนคำขู่ ซึ่งถ้าเด็กๆ ได้ยินบ่อยๆ เขาอาจจะกลัวถ้าไม่ทำให้เดี๋ยวคุณพ่อคุณแม่จะไม่รัก อาจจะกลายเป็นไม่รู้สึกอะไร และจะต่อต้านคำพูด ดื้อและไม่ทำตามอีกต่อไปนั้นเองค่ะ
-
อย่าทำแบบนี้ เดี๋ยวตำรวจจับนะ
เป็นคำที่เราเหล่าคุณพ่อคุณแม่มักใช้กับลูกที่ดื้อมากๆ ว่าจะขู่ให้ตำรวจมาจับ ซึ่งการขู่ เป็นการใช้คำพูดเพื่อสื่อออกมาว่า เมื่อทำแบบนี้แล้วจะเกิดผลอะไรตามมาบ้าง ซึ่งการบอกเหตุผลที่สอดคล้องกัน ทำให้เด็กๆ มีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีกว่า จะทำให้การเรียนรู้ดีตามไปด้วยนะคะ แต่การขู่แบบนี้ เด็กๆ จะขาดการเรียนรู้แบบเป็นเหตุเป็นผลไป เมื่อโตขึ้นเขาจะยิ่งไม่เชื่อคำขู่ต่างๆ เพราะรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันไม่มีอยู่จริงนั้นเองค่ะ
-
พูดไปบ่นไป
คุณพ่อคุณแม่มักจะบ่นไปเรื่อยๆ เมื่อเด็กๆ ไม่ยอมเชื่อฟัง แต่ไม่ได้ลงมือทำหรือออกฏอะไรจริงจัง สุดท้ายบ่นจนเหนื่อยแล้วก็หายไป เด็กๆ ก็ได้เล่นเกมหรือทำสิ่งที่บอกว่าให้หยุดทำเหมือนเดิม โดยไม่เกิดอะไรขึ้นนั้นเองค่ะ
-
ถ้าทำได้ พ่อกับแม่จะให้รางวัล
ให้รางวัลแบบเล็กๆ น้อยๆ ได้นะคะ แต่อย่าให้รางวัลกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ลูกทำได้ดี และอย่ายกระดับกฎเกณฑ์การให้รางวัลให้มันสูงขึ้นทุกครั้งที่ลูกได้ทำดี เพราะจะทำให้เขาได้ใจและจะทำเพื่อขอรางวัลและคิดว่ารางวัลเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำทุกๆ อย่าง และถ้าวันไหนที่เราไม่ให้รางวัลเขา เขาก็อาจจะงอแงเอาแต่ใจและคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่นก็ได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะเปลี่ยนเป็นคำพูดชื่นชมเขาแทน เป็นกำลังใจให้เด็กๆ ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดต่อไปก็ได้นะคะ
-
ลูกช่วยทำ….ได้ไหม
คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะเข้าใจผิด ว่าการ “ขอ” แบบนี้เป็นการแสดงมารยาทที่ดี แต่การทำแบบนี้จะทำให้อำนาจของคุณพ่อคุณแม่ลดลง ทำให้เด็กๆ คิดว่าเป็นคำขอ จะทำหรือไม่ทำก็ได้นั้นเองค่ะ
-
เรียนไม่เห็นเก่งเหมือนข้างบ้านเลย
เมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดประโยคประมาณนี้ เด็กๆ จะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า สำหรับพ่อแม่ ทำให้เขาเกิดพฤติกรรมชอบพูดย้อนกับเราได้ และจะกลายเป็นเด็กก้าวร้าวในที่สุด คุณพ่อคุณแม่ต้องชื่นชมและให้กำลังใจเขาในสิ่งที่เขาเป็นและ อยู่เคียงข้างเขานั้นเองค่ะ
-
ทำไมหนูไม่รับผิดชอบอะไรเลย
เหมือนเป็นคำพูดที่โทษตัวลูก และเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจกับภาษาที่คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังสื่อสาร ทำให้เขารู้สึกน้อยใจและรู้สึกว่าไม่มีใครอยู่เคียงข้างเขา เขาก็จะต่อต้านและดื้อในที่สุด คุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนคำพูดเป็น “แม่เสียใจนะ ที่หนูไม่ทำงานบ้านตามที่ตกลงกัน” แทนนั้นเองค่ะ
-
ตะโกนเรียกชื่อ
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะเผลตะโกนเรียกชื่อข้ามจากอีกที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดและจะทำให้เด็กๆ ยิ่งเมินเฉย ไม่เชื่อฟัง คุณพ่อคุณแม่ควรจะเรียกชื่อเขาชัดๆ และเดินเข้าไปหาเขา แล้วเมื่อเขาหันมาหาคุณพ่อคุณแม่ เราจึงค่อยๆ พูดในส่ิงที่อยากจะให้เขาทำหรือบอกเขานั้นเองค่ะ