สกินแคร์สำหรับเด็กกับผู้ใหญ่นั้นไม่เหมือนกัน แต่ก็จำเป็นไม่แพ้กัน อีกทั้งยังต้องใช้ความใส่ใจในการเลือกมากขึ้นเพื่อผิวบอบบางของคุณลูกอีกด้วย คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่าแล้วเราจะเริ่มยังไงดี ในเมื่อสกินแคร์เด็กในตลาดนั้นมีจำนวนมาก ไหนจะส่วนผสมที่ควรหรือไม่ควรมีในสกินแคร์อีก ลูกจะแพ้ไหมนะ เชื่อว่าเป็นคำถามในใจที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องพยายามหาคำตอบกันบ้างล่ะ
วันนี้ ParentsOne เลยอยากรวบรวมวิธีเลือกสกินแคร์ที่ดีต่อใจพ่อแม่และผิวลูกน้อยมาให้กันค่ะ! แถมยังมีไกด์คอยดูส่วนผสมที่ควรหลีกเลี่ยงให้ด้วย จะเป็นยังไง เราไปดูกันเถอะค่ะ
สกินแคร์ของลูกน้อยควรมีอะไรบ้าง
สกินแคร์ของลูกน้อยเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม แต่กลับกันควรเป็นอะไรที่เรียบง่าย ไม่ต้องมีหลายขั้นตอนให้ยุ่งยาก ซึ่งขั้นตอนดูแลผิวลูกน้อยสามารถแบ่งได้เป็นสามอย่าง มีดังนี้ค่ะ:
คลีนเซอร์ / สบู่สูตรอ่อนโยน
การทำความสะอาดนั้นช่วยป้องกันผิวหนังจากสารกระตุ้นหรือสิ่งสกปรกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำลาย น้ำมูก ของเสียที่ออกมาจากร่างกาย ฝุ่นผง สิ่งปฏิกูลภายนอกหรือแบคทีเรีย ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้บนผิวเป็นเวลานานจะส่งผลให้ผิวหนังระคายเคือง และสามารถเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ด้วย ซึ่งน้ำอย่างเดียวไม่สามารถชำระล้างไขมันและสิ่งสกปรกอื่นๆ ด้วยได้ จึงจำเป็นต้องมีคลีนเซอร์เข้ามาช่วย
คลีนเซอร์หรือสบู่ที่ดีควรเป็นสบู่สูตรอ่อนโยน ให้ดีควรเป็นสบู่เหลวที่มีค่า pH 5.5 เท่ากับผิว เพื่อไม่ให้ผิวลูกน้อยแห้งจนเกินไปค่ะ
มอยเจอร์ไรเซอร์
ผิวของลูกน้อยยังไม่สามารถกักเก็บความชุ่มชื้นได้ดีนัก มอยเจอร์ไรเซอร์เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับสกินแคร์ของลูกน้อยค่ะ ซึ่งควรทาทั้งหน้าและตัวหลังอาบน้ำเสร็จภายใน 2-3 นาทีเพื่อเก็บความชุ่มชื้นที่ผิว สำหรับเด็กที่มีผิวแห้งเป็นพิเศษ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ครีมมากกว่าโลชั่นค่ะ
สำหรับลูกน้อยที่มีผิวบอบบาง ครีมที่มีเซราไมด์จะช่วยปกป้องผิวให้แข็งแรง และช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นได้ดีค่ะ
ครีมกันแดด
เราอาจจะเคยได้ยินว่าครีมกันแดดนั้นสำคัญสำหรับสกินแคร์ในผู้ใหญ่ เพราะถ้าใช้ครีมกันแดดต่อเนื่องจะช่วยปกป้องผิวจากการเกิดริ้วรอยได้ดีกว่าครีมต้านอนุมูลอิสระเป็นไหนๆ! แต่ครีมกันแดดก็สำคัญสำหรับผิวของลูกน้อยเช่นกันค่ะ เพราะแสงแดดสามารถทำร้ายผิวได้มากกว่าที่คิด แต่แนะนำให้เริ่มใช้เมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไปนะคะ
ซึ่งครีมกันแดดที่เหมาะสำหรับลูกน้อยนั้นควรเป็นครีมกันแดด Physical ซึ่งใช้ Titanium Dioxide(TiO2) และ Zinc Oxide(ZnO) ในการสะท้อนแสงกลับ และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเหมือนครีมกันแดด Chemical ที่เสี่ยงต่อการซึมซับลงผิวของลูกน้อยค่ะ
ส่วนผสมที่ควรหลีกเลี่ยง
น้ำหอม (fragrance, parfum)
ส่วนผสมตัวดีที่ทำให้เจ้าตัวน้อยระคายเคืองได้ ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีกลิ่นหอมจะน่าใช้ก็จริง แต่น้ำหอมก็เป็นส่วนผสมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคือง หรือแม้กระทั่งปัญหาระบบทางเดินหายใจได้ค่ะ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงครีมหรือโลชั่นที่มีน้ำหอมอยู่ในนั้นค่ะ
พาราเบน (Ethylparaben, butylparaben, methylparaben, propylparaben หรือส่วนประกอบต่างๆ ที่ลงท้ายด้วย -paraben)
พาราเบนนั้นนับเป็นสารกันเสียชนิดหนึ่งถึงแม้ว่าพาราเบนจะเป็นส่วนประกอบสำคัญในสบู่เหลวแชมพูหรือผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดอื่นๆแต่พาราเบนก็เป็นส่วนผสมที่สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในเด็กเล็กได้อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในการทำลายสมดุลของระบบฮอร์โมนซึ่งอาจจะทำร้ายทารกที่ระบบฮอร์โมนยังไม่แข็งแรงได้ค่ะ
ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde)
สารกันเสียที่ทำหน้าที่เหมือนกับพาราเบน เป็นสารเคมีที่ป้องกันเชื้อโรค แต่ฟอร์มาลดีไฮด์ในปริมาณมากสามารถทำลายระบบทางเดินหายใจและระบบประสาทได้ค่ะ
น้ำมันมิเนอรัล (mineral oil, petrolatum, paraffinum, parrafinum liquididum)
ถึงแม้ว่าน้ำมันมิเนอรัลจะให้สัมผัสผิวที่นุ่มนิ่ม แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสักเท่าไรนักสำหรับสกินแคร์ของลูกน้อยค่ะ น้ำมันมิเนอรัลถูกใช้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจำนวนมากด้วยเป็นส่วนประกอบที่ให้ความชุ่มชื้นในราคาถูกกว่าน้ำมันอื่นๆ ทำหน้าที่เหมือนฟิล์มเคลือบบางๆ บนผิวหนัง ซึ่งทำให้ผิวถูกปิดและไม่สามารถถ่ายเทของเสียได้ตามธรรมชาติ ทำให้ระบบกลไกต่อมไขมันใต้ชั้นผิวไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งแล้วยังมีโมเลกุลขนาดใหญ่ เสี่ยงต่อการอุดตันรูขุมขน ซึ่งก่อให้เกิดอาการแพ้อีกด้วยค่ะ
SLS และ SLES (Sodium Lauryl Sulfate และ Sodium Laureth Sulfate)
SLS คือสารลดแรงตึงผิวที่ทำหน้าที่ทำความสะอาดในผลิตภัณฑ์ชำระล้างต่างๆ และทำให้มีฟองฟอด สาร SLS นั้นจะลดแรงตึงผิวในน้ำ ให้แทรกซึมเข้าไปชำระล้างได้ดี แต่ในอีกแง่ SLS สามารถกัดผิว ทำให้ผิวระคายเคืองง่าย ซึ่งไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี SLS กับทารกที่มีผิวบอบางแพ้ง่ายค่ะ
ส่วนสาร SLES นั้นมีความอ่อนโยนมากกว่า SLS เนื่องจากเป็นสารที่สกัดจากน้ำมันมะพร้าว แต่สารนี้ไม่สามารถย่อยได้ด้วยตับ ซึ่งเสี่ยงต่อตัวสารสะสมในร่างกายค่ะ
แป้งทัลก์ (Talc)
ส่วนผสมสำคัญในแป้งเด็ก ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการวิจัยชี้ว่าแป้งทัลก์นั้นจะเสี่ยงเป็นสารก่อมะเร็ง แต่แป้งทัลก์นั้นไม่ควรสูดดมเข้าไปเพราะทำให้ระบบทางเดินหายใจเสียหายได้ แนะนำให้ใช้แป้งเด็กที่ไม่มีส่วนผสมของทัลก์อย่างเช่นแป้งข้าวหรือแป้งข้าวโพด ที่ไม่มีทัลคัมและป้องกันความชื้นได้ดีเหมือนแป้งทัลคัมค่ะ
น้ำมันธรรมชาติที่ดีต่อผิวลูก
ส่วนผสมจากธรรมชาตินั้นอาจจะดี แต่คำว่าธรรมชาตินั้นไม่ได้แปลว่าจะดีต่อผิวเสมอไป น้ำมันหอมระเหยบางชนิดก็ไม่เหมาะกับการใช้บนผิวของทารกโดยตรงเพราะสามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือไหม้ผิวหนังได้ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการหาตัวแทนเบบี้ออยล์ หรือน้ำมันเพื่อใช้บำรุงผิวลูก ก็มีน้ำมันธรรมชาติที่ช่วยบำรุงให้ผิวนุ่มชุ่มชื้นได้ ไม่มีสารกระตุ้นที่ทำให้ผิวลูกน้อยระคายเคือง แต่ก่อนใช้นั้นแนะนำให้ทดสอบอาการแพ้ก่อนทุกครั้ง และสำหรับเด็กทารกที่มีอาการแพ้ถั่ว ก็ไม่ควรใช้น้ำมันที่ทำจากถั่วนะคะ
- น้ำมันสวีตอัลมอนด์
- เชียบัตเตอร์
- น้ำมันแอปริคอต
- น้ำมันโจโจบา (เหมาะกับผสมในน้ำมันอื่นๆ)
- น้ำมันเมล็ดองุ่น