Parents One

เข้าใจภาษาของทารก (วัย 0-1 ปี) ไม่ใช่เรื่องยาก

ในช่วง 3 ปีแรก เด็กจะมีพัฒนาการด้านการรับรู้และแสดงออกทางภาษากับคุณพ่อคุณแม่อย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะการรับรู้ตั้งแต่แรกเริ่มในครรภ์จึงส่งผลให้สามารถตอบสนองสิ่งที่ได้ยินมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้ภาษาทารกนั้นไม่ใช่เรื่องยาก บางครั้งการสื่อภาษาของลูกน้อยเพื่อต้องการบอกบางอย่างกับเรา ดังนั้น เรามาทำความเข้าใจภาษาลูกน้อยกันดีกว่าค่ะ

อายุ 0-1 เดือน – ช่วงปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่

ช่วงนี้ทารกน้อยจะนอนหลับเป็นส่วนใหญ่จึงยังไม่อาจสื่อสารอะไรกับคุณแม่ได้มากนัก แต่ขณะเดียวกันทารกกำลังเริ่มปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น เมื่อได้ยินเสียงดังรอบข้างจึงมักจะสะดุ้งตกใจ สำหรับเบบี๋ ที่มีการขยับปากมี 2 อย่าง คือช่วงแรกคลอด 2-3 สัปดาห์ เมื่อคุณเขี่ยแก้มลูกน้อย เขาจะหันหน้าและขยับปากตามหาสิ่งที่สัมผัสแก้มเขา ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ แต่หลังจาก 3 สัปดาห์ การขยับปากของเบบี๋เป็นสัญญาณที่บอกให้พ่อแม่รู้ว่า “ลูกหิวแล้ว”

อายุ 2-4 เดือน – ยิ้มแฉ่งมีความสุข

เริ่มส่งยิ้มกับผู้ที่มาหยอกล้อเล่นด้วยอย่างมีความสุข และสามารถแยกเสียงสูงต่ำได้เนื่องจากระบบการได้ยินทำงานเข้าที่เข้าทางมากขึ้น และเมื่อเริ่มโตขึ้นทารกรอยยิ้มก็จะมีความหมายมากขึ้น และมีอารมณ์ต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องเมื่อตอนเขาอายุได้ราว 6 -8 สัปดาห์

อายุ 5-6 เดือน – มีท่าทางตื่นเต้น

เมื่อเด็กได้ยินเสียงที่ตนพอใจก็จะตื่นเต้นและส่งท่าทางเพื่อตอบสนองรับกับเสียงที่ได้ยินนั้นในระดับหนึ่ง

อายุ 7-8 เดือน – อ้อแอ้เป็นแล้วจ้า

เด็กจะเริ่มเข้าใจความหมายของคำที่คุณแม่สื่อสารด้วยได้ อย่างเช่น คำว่า “ปาป๊า มาม๊า หม่ำๆ จ๋าจ้ะ ฯลฯ” อีกทั้งรับรู้และจดจำชื่อของตนเองได้ รวมถึงคำต่างๆ ที่เราสื่อสารกับลูกอย่างสม่ำเสมอ

อายุ 9-12 เดือน – เลียนแบบแม่จ๋า

เพราะพ่อแม่คือต้นแบบของลูก ช่วง อายุ3-6 เดือน ทารกส่วนมากจะเรียนรู้ที่จะเลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้าจากผู้ใหญ่ และเมื่ออายุประมาณ 9 เดือนเขาจะเริ่มแสดง ออกทางสีหน้าที่ได้เรียนรู้มาแบบมีอารมณ์ ต่างๆเข้ามาด้วย เช่น เวลาที่พบคนแปลกหน้า เบบี๋ส่วนใหญ่จะหันไปมองหน้าแม่ของ ตัวเอง และถ้าเห็นว่าแม่ทำหน้าเศร้าหรือไม่มี ความสุข ความวิตกกังวลของเจ้าตัวเล็ก ก็จะเพิ่มมากขึ้นๆ จนบางคนก็ร้องไห้แงๆ ได้

อายุ 1 ปีขึ้นไป – เรียกร้องความสนใจเป็นแล้ว

ช่วงอายุ 1 ปีขึ้นไป เด็กเริ่มเรียนรู้และสามารถจดจำคำศัพท์ต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สื่อสารด้วยได้ ซึ่งเด็กจะเรียนรู้ได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับการสื่อสารและกระตุ้นพัฒนาการของคุณแม่ด้วยค่ะ และเด็กวัยนี้จะมีวิธีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียงเอะอะ เรียกร้องความสนใจ หรือโยนสิ่งของซ้ำๆ เพื่อให้มีคนมาเก็บให้ หรือใช้นิ้วชี้ไปยังสิ่งของที่ต้องการให้คุณแม่หยิบให้

การเข้าใจภาษาลูกรักไม่ใช่เรื่องยาก ลูกจะสื่อสารตอบสนองกับเราอย่างไร จึงขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของคุณแม่โดยทั้งสิ้น หากคุณแม่สื่อสารด้วยภาษารักจากใจ รับรองว่าเขาย่อมเป็นเด็กที่เรียนรู้อย่างชาญฉลาดและตอบสนองความรักจากแม่ได้อย่างอบอุ่นแน่นอนค่ะ

ที่มา :