สิ่งที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตต้องเริ่มจากการที่มีโภชนาการที่ดี โดยเฉพาะวัยทารก เพราะเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่รวดเร็วกว่าวัยอื่น การที่ทารกได้อาหารที่ถูกต้อง และเพียงพอเหมาะสมตามวัยนอกจากจะช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของเด็กๆ แล้ว ยังลดความเสี่ยงต่อการแพ้อาหาร และยังสร้างนิสัยการบริโภคที่ดีต่อไปได้อีกด้วย คุณแม่ที่กำลังมองหาหรืออยากจะรู้ว่าลูกๆ ของเรานั้นควรจะทานอาหารมากน้อยแค่ไหนถึงจะเพียงพอ วันนี้เรามีพัฒนาการที่เกี่ยวกับการกินของเด็กเล็ก (ทารก) มาให้คุณแม่ๆกัน มาดูกันเลย
“อาหาร” ที่เหมาะสมสำหรับทารกทั้งชนิดและปริมาณ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตของร่างกายและสอง
สารอาหารที่สำคัญ
- พลังงานและโปรตีน แหล่งอาหารในช่วงแรกเกิดถึง 4 เดือนที่ดีที่สุดคือนมแม่ หลังจากนั้นเพิ่มเติมจากไข่ เนื้อสัตว์ต่างๆ
- ธาตุเหล็ก ร้อยละ 90 ของธาตุเหล็กที่ทารกต้องการได้มาจากอาหารเสริมตามวัย ได้แก่ ตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์ ดังนั้น หลังจากอายุ 4 เดือน ทารกที่ทานแต่นมจึงเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก
- ไอโอดีน ช่วยการทำงานของต่อมไทรอยด์ ช่วยในการพัฒนาสมอง และการเจริญเติบโตของร่างกาย ควรใช้เกลือไอโอดีนในการปรุงอาหาร
- แคลเซียม จำเป็นในการสร้างกระดูกและฟัน ส่วนใหญ่ได้จากนม
- สังกะสี ช่วยการเจริญเติบโต และสร้างภูมิคุ้มกันโรคในร่างกาย มีมากในเนื้อสัตว์ และอาหารทะเล
- วิตามินเอ เสริมสร้างเซลล์และระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยเกี่ยวกับการมองเห็น แหล่งอาหารสำคัญคือ ตับ ไข่แดง ผักใบเขียวเข้ม และผักผลไม้สีเหลืองแสด
คำแนะนำในการให้อาหารทารก
การให้อาหารทารกที่ถูกต้อง เพียงพอและเหมาะสมตามวัยจะช่วยให้ทารกมีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ดี ลดความเสี่ยงต่อการแพ้อาหารโดยเริ่มจาก
- เริ่มให้อาหารทีละน้อยในระยะแรก เพื่อให้ทารกฝึกการใช้ลิ้น ริมฝีปากและการกลืน
- เริ่มให้ทีละอย่างและเว้นระยะ 1 – 2 สัปดาห์ ก่อนเริ่มให้อาหารชนิดใหม่ เพื่อสังเกตอาหารแพ้
- จัดชนิดอาหารให้เหมาะสมตามวัย เนื่องจากระบบการย่อยและการดูดซึมยังไม่สมบูรณ์
- จัดอาหารให้หลากหลายเหมาะสมกับวัย เนื่องจากระบบการย่อยและการดูดซึมยังไม่สมบูรณ์
- เนื้อสัมผัสของอาหาร จัดให้เหมาะกับการพัฒนาการของเด็กทารกเริ่มจากอาหารเหลว กึ่งเหลว กึ่งแข็ง อ่อนนิ่มและหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
- ไม่ปรุงอาหารรสจัด เช่น หวาน เค็ม เปรี้ยว เผ็ด
- เน้นความสะอาดของวัตถุดิบและภาชนะใส่อาหาร
ที่มา : ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช