คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่า ทารกวัยแรกเกิด – 1 ปี เป็นวัยที่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว จากเด็กแรกเกิดที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องอาศัยพ่อแม่เป็นผู้ดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด จนกระทั่งอายุ 1 ปี เด็กสามารถบอกความต้องการง่ายๆ เดินเตาะแตะได้ ดังนั้นวัยแรกเกิด – 1 ปี จึงเป็นวัยที่ต้องให้ความสำคัญและเรียนรู้วิธีการกระตุ้นหรือส่งเสริมพัฒนาการของลูก เพื่อให้ลูกของเราเติบโตอย่างสมบูรณ์และสมวัยค่ะ
ทารกแรกเกิด
พัฒนาการตามวัย
– มองหน้า สบตา
– ตอบสนองต่อเสียงพูด ทำเสียงใน ลำคอ
– เคลื่อนไหวแขนขา ทั้ง 2 ข้าง
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
– อุ้มให้หน้าลูกอยู่ในระดับ เดียวกับหน้าแม่ ยิ้ม พูดคุย กับลูกบ่อยๆ
– ให้ลูกนอนหงายเพื่อให้ลูกสามารถเคลื่อนไหวแขน-ขาได้อย่างอิสระ
– ใช้นิ้วสัมผัสฝ่ามือลูก ไม่ควรใส่ถุงมือตลอดเวลา เพื่อฝึกให้ลูกใช้มือ
วัย 1-2 เดือน
พัฒนาการตามวัย
-ยิ้มตอบ ยิ้มทักได้
-ทาเสียงอือ อา สนใจฟังและมอง หาเสียง
-มองตามสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ 180 องศา
-ชันคอในท่าคว่าได้ 45 องศา
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
– อุ้มลูกหันหน้าเข้าหาแม่ พูดคุย มองสบตา เอียงหน้าไปมาช้าๆ เพื่อให้ลูกมองตาม
– จัดให้ลูกอยู่ในท่าคว่ำ เขย่าของเล่นที่มีเสียงเหนือศีรษะเพื่อให้ลูกสนใจเงยหน้ามอง
– พูดคุยทำเสียงต่างๆ และร้องเพลง
วัย 3-4 เดือน
พัฒนาการตามวัย
– ทักทายคนคุ้นเคย
– หันหาเสียงหัวเราะ ส่งเสียงอ้อแอ้ตอบได้
– เอามือมาจับกัน
– ในท่าคว่ำ ใช้ท่อนแขนยัน ชูคอได้ 90 องศา
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
– ทักทาย เรียกชื่อลูก พูดคุย เล่นสัมผัส กับลูกบ่อยๆ
– ใช้นิ้วหัวแม่มือของแม่ให้ลูกจับด้วยมือทั้ง 2 ข้าง
– เขย่าของเล่นที่มีสีสันสดใส และมีเสียงให้ลูกมองตาม
– จัดให้ลูกอยู่ในท่าคว่ำ เขย่าของเล่นที่มีเสียงเหนือศีรษะเพื่อให้ลูกสนใจเงยหน้ามอง
วัย 5-6 เดือน
พัฒนาการตามวัย
– แสดงอารมณ์และท่าทาง เช่น ดีใจ ขัดใจ
– จำหน้าพ่อแม่ได้
– หันตามเสียงเรียกชื่อ ส่งเสียง สูงๆ ต่ำๆ
– สลับมือถือของได้
– เริ่มพลิกคว่ำ พลิกหงาย คืบ
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
– ยิ้มแย้ม พูดคุยกับลูกในทิศทางต่างๆ ฝึกให้ลูกตอบสนองต่อเสียง
– พูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่กับลูก เช่น อาบน้ำ กินข้าว
– หาของเล่นสีสันสดใสให้ลูกคว้าเล่น
– จัดที่ปลอดภัยให้ลูกได้พลิกคว่ำ พลิกหงาย และคืบอย่างอิสระ
วัย 7-8 เดือน
พัฒนาการตามวัย
– กลัวคนแปลกหน้า รู้สึกผูกพัน เเละติดคนเลี้ยงดู
– ชูมือให้อุ้ม
– ทำเสียงพยางค์เดียว เช่น จ๊ะ ป๊ะ หม่า
– มองตามของที่ตก
– นั่งทรงตัวได้เองโดยไม่ต้องใช้มือยันพื้น
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
– พบปะกับคนอื่น และให้เวลาลูกทำความคุ้นเคย
– กลิ้งของเล่นให้เด็กมองตาม
– เวลาพูดให้เรียกชื่อลูก
– ให้เล่นสิ่งที่มีสีและขนาดต่างกัน เช่น ลักษณะผิวเรียบ – หยาบ, อ่อน – แข็ง
– อุ้มลูกให้น้อยลง ฝึกให้นั่ง เอี้ยวตัว คว้าของจากหลายทิศทาง
อายุ 9-10 เดือน
พัฒนาการตามวัย
– เข้าใจเสียงห้าม
– เล่นจ๊ะเอ๋ ปรบมือ มองหาของที่ซ่อนอยู่
– ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือหยิบของชิ้นเล็ก
– คลาน เกาะยืน และเหนี่ยวตัวลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
– เล่นจ๊ะเอ๋ ร้องเพลง ทำท่าต่างๆ และเล่นปรบมือกับลูกบ่อยๆ
– ฝึกให้ลูกใช้นิ้วหยิบของชิ้นเล็กที่อ่อนนุ่มเข้าปากเอง เช่น ข้าวสุก ฟักทองต้ม
– สอนให้ลูกแสดงท่าทาง เช่น ชี้มือ เวลาอยากได้สิ่งของ
– หัดให้ลูกเกาะยืนหรือเกาะเดินอย่างปลอดภัย
– วางของเล่นที่ลูกสนใจบนเก้าอี้เพื่อกระตุ้นให้ลูกเหนี่ยวตัวลุกขึ้นยืนหยิบของ
วัย 11-12 เดือน
พัฒนาการตามวัย
– เลียนแบบท่าทางต่างๆ เช่น ไหว้ โบกมือ ลา หอมแก้ม โยกตัวตามจังหวะเพลง
– ดื่มน้ำจากถ้วยโดยต้องช่วยเหลือ
– พูดได้ 1 คำ อย่างมีความหมาย เข้าใจเสียงห้าม
– ถือสิ่งของที่มีขนาดพอดีมือ แล้วนำมาเคาะกัน
– ยืนเองได้ชั่วครู่ หรือตั้งไข่
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
– เป็นตัวอย่างสอนให้ลูก เลียนแบบท่าทางต่างๆ เช่น ไหว้ โบกมือ และชมเชยเมื่อลูกทำได้
– ให้ลูกถือของมือละชิ้น แล้วนำมาเคาะกัน โดยแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
– สอนให้ลูกแสดงท่าทาง เช่น ชี้มือ เวลาอยากได้สิ่งของ
– จัดสถานที่ปลอดภัยเพื่อให้หัดยืน โดยพ่อแม่ดูแลอย่างใกล้ชิดและคอยให้กำลังใจ
– พูดคุย ชี้ และบอกส่วนต่างๆ ของร่างกาย
การส่งเสริมพัฒนาการเด็กคุณพ่อคุณแม่ต้องทำด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ทำอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือ อย่าลืมดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยของเราด้วยนะคะ