เมื่อจะพาลูกไปเล่นน้ำ เครื่องป้องกันลูกจมน้ำที่คุณพ่อคุณแม่นึกถึงอย่างแรกก็คือ ห่วงยาง ซึ่งในปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายมากๆ ค่ะ แต่มีหลายกรณีเช่นกันที่ห่วงยางกลับเป็นอุปสรรคมากกว่าเครื่องช่วยชีวิต อย่างอุบัติเหตุล่าสุดที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน ที่มีหนูน้อยหน้าคว่ำตอนที่กำลังเล่นน้ำอยู่ในสระ ทั้งๆ ที่สวมห่วงยาง แต่ห่วงยางนั้นกลับล็อกตัวจนเขาไม่สามารถพลิกตัวขึ้นมาได้ อีกทั้งยังโชคร้ายที่ผู้ดูแลก็มองเด็กได้ไม่ทั่ว จนเกือบทำให้หนูน้อยเสียชีวิต นั่นแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะใช้ห่วงยางที่ดูปลอดภัยแค่ไหนก็ยังมีอันตรายแฝงอยู่ดีค่ะ
แต่อย่างไรก็ดีการที่ให้ลูกใส่ห่วงยางเล่นน้ำก็ดีกว่าให้ลูกลงน้ำโดยไม่มีเครื่องป้องกันอะไรเลย ดังนั้นเราไปดูกันดีกว่าค่ะว่าห่วงยางมีกี่ประเภท และแบบไหนที่ดูปลอดภัยกับลูกมากกว่ากัน
ประเภทของห่วงยาง
ห่วงยางโดนัท
เป็นห่วงยางแบบเบสิก ที่มีรูตรงกลางให้ลูกตีขาได้อย่างอิสระ แต่ถ้าลูกไม่ได้เกี่ยวแขนกับห่วงยางให้แน่น ก็มีสิทธิ์ที่จะไหลออกจากห่วงยางได้
ห่วงยางสอดขา
ห่วงยางสอดขาที่ดูมีความปลอดภัยเพราะพัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กไหลเหมือนกันห่วงยางโดนัท ก็ดูมีความอันตรายอยู่เช่นกัน เพราะถ้าหากลูกเผลอคว่ำหน้า หรือหงายหลัง ขาลูกจะติดอยู่กับที่สอดขา ทำให้หลุดออกจากห่วงยางไม่ได้ค่ะ
ห่วงยางสวมคอ
เป็นห่วงยางที่เข้าล็อกกับคอของเด็กพอดี ทำให้ตัวไม่สามารถหลุดออกจากห่วงยางได้ แต่ห่วงยางแบบนี้มีข้อเสียตรงที่เด็กจะอยู่ในน้ำแบบแนวดิ่งตลอดเวลา นอกจากนี้การที่หัวของลูกลอยอยู่เหนือน้ำเพียงส่วนเดียว จะให้ทำมีแรงกดที่คอเป็นพิเศษ จึงอาจได้รับบาดเจ็บได้
ห่วงยาง Swim trainer back ring
เป็นห่วงยางทีมีตัวล็อกและสายสะพายไหล่กันเด็กหลุดออกจากห่วงยาง แต่ถ้าเผลอคว่ำหน้าก็ยากที่เด็กจะพลิกตัวกลับขึ้นมาได้
ห่วงยาง Swim Double ring
ห่วงยาง 2 ชั้น ป้องกัน 2 ต่อ เพราะเป็นเหมือนห่วงยางที่ผสมผสานระหว่างห่วงยางโดนัทกับห่วงยางสวมคอเข้าด้วยกัน โดยเมื่อลูกใส่ห่วงยางแบบนี้ก็จะล็อกทั้งเอวและคอ ซึ่งแขนของลูกจะสอดอยู่ระหว่างห่วงยางบนและล่างได้อย่างพอดี
ห่วงยางแบบเสื้อชูชีพ Float Jacket
เป็นห่วงยางที่พัฒนาขึ้นจากแค่เสื้อชูชีพธรรมดา เพราะมีการเพิ่มปลอกแขนพองลมขึ้นมาให้เด็กๆ สามารถลอยตัวในน้ำได้ดีขึ้นค่ะ
จากประเภทของห่วงยางที่ยกมา จะเห็นว่าบางอันก็ดูปลอดภัย เพราะลูกน่าจะไม่หลุดออกจากห่วง อีกทั้งยังไม่ได้รัดลูกแน่นจนเกินไป แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยของลูก เวลาที่เขาลงเล่นน้ำทุกครั้ง คุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยอยู่ดูตลอด ควรลงไปเล่นน้ำกับลูกด้วย และอยู่ไม่ไกลเกิน 1 ช่วงแขน เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงทีค่ะ