คุณพ่อคุณแม่สังเกตกันไหมคะว่า เด็กๆ แต่ละคนถึงแม้เราเองจะเป็นคนที่เลี้ยงเขาแบบเดียวกันทั้งคู่ แต่ทำไมทั้งนิสัย บุคลิกต่างๆ ของเขา เมื่อเขาโตขึ้น ถึงดูไม่ค่อยเหมือนกันเอาซะเลย วันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่ไปศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ในวัยเด็กที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกของลูกตอนโตกันค่ะ กับนักจิตวิทยาเชื้อสายยิว จะมีปัจจัยอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!
อัลเฟรดแอดเลอร์ (Alfred Adler) นักจิตวิทยาเชื้อสายยิว ได้ศึกษาถึงปัจจัยที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ที่ทำให้มีอิทธิพลต่อบุคลิกของบุคคลในวัยผู้ใหญ่ไว้ 3 ประการ ได้แก่
1. ลำดับของการเกิดในครอบครัว (Order of Birth)
เพราะประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากพ่อแม่แตกต่างกัน ทำให้แอดเลอร์แบ่งลำดับเป็นดังนี้
ลูกคนโต
- ลักษณะนิสัย : ลูกคนโตมักจะได้รับความรัก และความเอาใจใส่จากพ่อแม่เป็นอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อมีน้อง เด็กจะรู้สึกว่าความรักที่เคยได้ถูกแบ่งปันไปให้น้องที่มาใหม่ ทำให้พี่คนโตจะมีบุคลิกภาพประเภทขี้อิจฉา และเกลียดชังผู้อื่น รู้สึกไม่มั่นคง และพยายามปกป้องตัวเอง
- ข้อดี : หากพ่อแม่มีการเตรียมความพร้อมให้ลูกคนโตล่วงหน้า เช่น บอกว่าเรากำลังจะมีน้อง พยายามให้เขารับรู้ และมีส่วนรวมในการดูแลคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ จะทำให้พี่คนโตมีบุคลิกภาพไปในทางที่พึงประสงค์ เช่น มีความรับผิดชอบสูง ช่วยเหลือปกป้อง เชื่อมั่นในตนเอง เป็นต้น
ลูกคนกลาง
- ลักษณะนิสัย : ลูกคนกลางมักจะคิดว่าพ่อแม่รักพี่คนโตและน้องคนสุดท้องมากกว่าตน ทำให้มีลักษณะนิสัยมีความทะเยอทะยานสูง มีความอดทน แต่มีแนวโน้มที่จะเป็นคนดื้อรั้น และลึกๆ แล้วเป็นคนที่มีความรู้สึกอิจฉา ทำให้ลูกคนกลางพยายามจะเอาชนะหรือแสดงความสามารถให้เหนือกว่าพี่และน้องออกมา
- ข้อดี : หากพ่อแม่มีการเตรียมความพร้อมให้ลูกคนกลางที่ดี สังเกตเลยค่ะว่า ลูกคนกลางมักจะมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่าพี่และน้องเสมอ
ลูกคนสุดท้อง
- ลักษณะนิสัย : เนื่องจากพ่อแม่ตามใจประคบประหงมและได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ทำให้น้องคนสุดท้องมีลักษณะนิสัยเอาแต่ใจตนเอง และมักชอบขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเสมอค่ะ
- ข้อดี : เนื่องจากเป็นลูกคนสุดท้อง พ่อแม่ก็เริ่มปล่อยวางไม่ได้เคร่งเครียดอะไร ทำให้ลูกคนเล็ก เป็นคนที่สนุกสนานร่าเริง เป็นมิตรกับคนรอบข้าง และเข้ากับคนอื่นได้ง่ายด้วยนั่นเอง
2. ประสบการณ์ในวัยเด็ก (Childhood Experience)
เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่เด็กๆ ได้รับการเลี้ยงดูในระยะแรกของชีวิต คือตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ขวบ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะได้แก่
- เด็กที่เลี้ยงดูแบบตามใจ (Spoiled Child) : การเลี้ยงดูแบบนี้จะทำให้เด็กๆ อาจเสียคนได้ พวกเขาจะไม่สามารถพัฒนาตนเองในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม ขาดเหตุผล เห็นแก่ตัว นั่นเอง
- เด็กที่ถูกทอดทิ้ง (Neglected Child) : ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น พ่อแม่แยกทาง พ่อแม่เสียชีวิต ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น เด็กที่ถูกทอดทิ้งเหล่านี้จะรู้สึกเกลียดชังพ่อแม่และคนรอบข้าง ทำให้เขาเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย และปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ยาก นั่นเอง
- เด็กที่ได้รับความรักความอบอุ่นอย่างสมบูรณ์ (Warm Child) : เด็กเหล่านี้มักได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีเหตุและผล ทำให้เด็กๆ ที่ได้รับประสบการณ์ที่ดี เด็กจึงเป็นคนที่มีเหตุผล กล้าคิด กล้าแสดงออก มองโลกในแง่ดี ร่าเริงแจ่มใส และเอาใจใส่ผู้อื่นนั่นเองค่ะ
3. ความรู้สึกว่ามีปมด้อยและสร้างปมด้อยชดเชย (Inforiority Feeling and Compensation)
การมีปมด้อยมักเกิดจากการเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา สภาพร่างกาย ความสามารถ สถานทางสังคม ฐานะความเป็นอยู่ การยอมรับ ซึ่งเมื่อเด็กคิดว่าตัวเองมีปมด้อยแล้ว เขามักจะสร้างปมเด่น เพื่อกลบปมด้อยของตัวเองขึ้นมา เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นที่ยอมรับในสังคมให้ได้ เหตุนี้นี่ก็เป็นอีก 1 ปัจจัยที่ทำให้เด็กๆ แต่ละคนมีลักษณะนิสัยหรือบุคลิกที่ต่างกันนั่นเอง เพราะปมด้อยของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็เป็นเพียงแค่ทฤษฎีการศึกษาของแอดเลอร์ ที่เชื่อว่าพฤติกรรมทั้งหมดที่บุคคลนั้นแสดงต่อสถานการณ์หรือรูปแบบของพฤติกรรมที่ใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ในสังคม มีความแตกต่างกันไปตามสภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อมของแต่ละบุคคลเท่านั้น ซึ่งบางคนก็ไม่ได้เป็นไปตามนี้ อีกทั้งพ่อแม่ยังสามารถเตรียมความพร้อม ปลูกฝังให้เด็กๆ ได้ตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้เขาเติบโตมามีบุคลิกที่ดีต่อสังคมได้ด้วยการเลี้ยงดูที่ดีจากพ่อแม่อย่างเราๆ ที่เป็นปัจจัยหลักนั่นเองค่ะ
อ้างอิงจาก : ทฤษฎีบุคคลของแอดเลอร์