ช่วงนี้จะเห็นได้ว่ามีหลายคนพูดถึงสิทธิของลูกเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ในที่สาธารณะกันมากขึ้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เองก็อาจจะคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ และใครๆ ก็ทำกัน ทั้งเรื่องการเปิดเพจลูกน้อย หรือการโพสต์รูปต่างๆ เพื่อเก็บเป็นความทรงจำ หากมองในแง่ดีภาพต่างๆ ก็ทำเอาคนที่ได้ดูรู้สึกถึงความน่ารักและสดใสของเด็กๆ เป็นไหนๆ จนมองข้ามความปลอดภัยและส่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ วันนี้เราเลยมีคำแนะนำมาฝากให้กับคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่ะ ไปดูกันเลย
Sharenting คืออะไร
Collins Dictionary ได้บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมาก ซึ่งเกิดจากการผสมคำว่า Share + Parenting ใช้เรียกพฤติกรรมของพ่อแม่ที่แชร์ภาพ วิดีโอ รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกที่มากเกินไป จนมองข้ามความปลอดภัยและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเด็กได้
เจตนาของพ่อแม่
- โพสต์ด้วยความรักและเอ็นดู
- อยากส่งต่อความน่ารักให้หลายๆ คนได้เห็น
- เป็นพื้นที่เก็บความทรงจำ เพราะเป็นช่วงเวลาทีไม่มีวันย้อนกลับมาอีกแล้ว
- อยากให้ญาติๆ หรือคนที่รู้จักสามารถติดตามความเป็นไป ความน่ารักของเด็กๆ ด้วยกัน
ผลกระทบภายนอก
- เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่หวังดีเข้าถึงตัวเด็กได้ง่ายขึ้น
- มีการขโมยภาพหรือข้อมูลเด็กไปปั้นเป็นเรื่องราวใหม่ เช่น การขอรับบริจาคต่างๆ ที่เห็นในข่าว
- ปัญหาใหญ่ก็คือ การนำภาพเด็กไปใช้เพื่อตอบสนองทางเพศของกลุ่มคนที่มีอาการใคร่เด็ก จนนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาที่เราพบกันบ่อยขึ้น
ผลกระทบภายใน
- ในอนาคตหากเด็กได้รับคอมเมนต์แง่บวกที่มากเกินไป อาจทำให้เขาเกิดการเสพติดตัวตนในโลกออนไลน์ที่พ่อแม่ประกอบสร้างขึ้นมาได้ ทำให้อาจกลายเป็นเด็กเสพติดการเยินยอ การกดไลก์ และอาจถึงขั้นพยายามทำตัวเองให้ดูดีตลอดเวลา เพื่อให้ได้รับคำชม
- ในอนาคตหากเด็กได้รับคอมเมนต์ในแง่ลบ คอมเมนต์เหล่านั้นจะกลายเป็น Digital footprint หรือร่องรอยทางดิจิทัลที่จะคงอยู่ตลอดไป สิ่งที่เคยอยู่บนโลกออนไลน์ก็จะย้อนกลับมาทำร้ายจิตใจของเขาได้ โดยที่พ่อแม่อย่างเราก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก
สิทธิเด็กอยู่ตรงไหน
- ฝรั่งเศส : หากพ่อแม่โพสต์ข้อมูลส่วนตัวหรือรูปถ่ายของลูก โดยไม่ได้รับอนุญาตต้องรับโทษทั้งจำและปรับฐานละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลในโลกออนไลน์
- สหภาพยุโรป : ใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation : GDPR) รวมถึงรูปภาพ นับเป็นหนึ่งในข้อมูลส่วนบุคคลที่ใครจะนำมาเผยแพร่โดยไม่ขออนุญาตไม่ได้
- สหรัฐอเมริกา : มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กและเยาวชน (The Children’s Online Privacy Protection Act of 1998) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘COPPA’ ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2000 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี
- ประเทศไทย : พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
ข้อควรทำในการโพสต์รูปลูก
- หากจำเป็นต้องโพสต์จริงๆ ควรคัดสรรเนื้อหาที่เหมาะสมในการโพสต์
- หากลูกเริ่มรู้ความหรืออายุ 2-3 ขวบขึ้นไป ควรถามลูกก่อนว่าโพสต์ไปแล้วชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ให้ลูกได้มีสิทธิในการอนุญาตก่อนโพสต์
- ควรคำนึงถึงอนาคตของเด็ก หรือพยายามแทนความรู้สึกของตัวเองลงไปว่าหากไม่ชอบสิ่งนั้นเมื่อโตไปจะทำอย่างไร
- ควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัว หรือให้เห็นเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ผู้ที่เห็นข้อมูลหรือโพสต์ควรเป็นคนที่ไว้ใจได้ ไม่ควรเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับเด็กแก่สาธารณะนั่นเอง
เชื่อเลยค่ะว่าพ่อแม่หลายคนรักลูกและไม่ได้ตั้งใจที่จะละเมิดสิทธิของลูก แต่เพียงแค่ว่าเราเองไม่ทันได้คิดให้ถี่ถ้วนและตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมาในอนาคตของลูกเท่านั้น เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วค่ะที่เราเองจะต้องเรียนรู้และเข้าใจการใช้เทคโนโลยีอย่างจริงจัง เพราะบนโลกโซเชียลมีเดียไม่ได้มีเพียงแค่เราและคนรู้จัก มันยังมีคนนอกคนแปลกหน้าด้วยเช่นกัน หากพ่อแม่เข้าใจและทำได้รับรองได้เลยว่าจะช่วยรักษาพื้นที่ส่วนตัวของลูกได้ และเด็กๆ ก็จะปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วยค่ะ
อ้างอิงจาก : The 101.World, Bangkokbiznews, rama.mahidol