Parents One

9 วิธีแก้ทางเด็กดื้อเด็กซน

ความดื้อความซนของเด็กๆ เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่เจอเป็นประจำ ซึ่งสาเหตุที่เด็กๆ แสดงพฤติกรรมดื้อหรือซนนั่น เกิดมาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น จากพัฒนาการของวัย, พื้นฐานอารมณ์ของเด็ก, สิ่งแวดล้อมรอบตัว, ความสามารถในการเรียนรู้, หรือแม้กระทั่งปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ วันนี้เราจะมาดูกันว่า วิธีแก้ทางเพื่อปรับพฤติกรรมของเด็กดื้อเด็กซน ที่ทางเว็บไซต์ Rakluke ได้รวบรวมเอาไว้มีอะไรบ้าง ลองไปดูกันจ้า

ปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัว

เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ เวลาที่เล่นซนจนเลยเถิด พอเราห้ามว่า ตรงนั้นทำไม่ได้ ตรงนี้ก็ไม่ได้ เด็กๆ ก็จะอารมณ์เสียและดื้อออกมาให้เห็น เพราะฉะนั้นแล้ว การปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ควรปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นการป้องกันไม่ได้เด็กๆ เจอหรือเล่นสิ่งของที่อันตรายได้ เช่น การเก็บยา เครื่องใช้ไฟฟ้า ของมีคม ในจุดที่พ้นมือเด็ก เพราะเด็กวัยกำลังซนจะชอบสำรวจ ปีนป่ายอะไรต่อมิอะไรจนเกิดอันตรายได้ การป้องกันไว้ก่อนดีกว่าเสมอนะ

จัดกิจวัตรประจำวัน

การจัดตารางนอนให้เป็นเวลา หรือแม้กระทั่งตารางการกินอาหาร ก็ถือว่าเป็นส่วนที่ช่วยให้เด็กๆ ปรับตัวกับสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และให้ความร่วมมือกับคุณพ่อคุณแม่ในการทำกิจวัตรอื่นๆ ได้ดีขึ้นด้วย

เบี่ยงเบนความสนใจ

การเบี่ยงเบนความสนใจ ถือว่าเป็นอีกวิธีที่ได้ผลกับเด็กเล็ก เพราะเด็กในช่วงวัยนี้มักสนใจสิ่งต่างๆ ได้ง่ายมาก วิธีหลอกล่อให้เด็กเบี่ยงเบนความสนใจไปที่อื่นเพื่อให้เด็กหยุดทำบางอย่าง เช่น เด็กๆ กำลังเล่นของอันตราย หรือแตกหักได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่ลองชวนเด็กๆ ไปทำอย่างอื่นเพื่อเบี่ยงเบนและป้องกันเด็กไม่ให้เจออะไรที่อันตราย

ชี้แนะแนวทางให้เด็กๆ

เพราะเด็กๆ ในช่วงวัยนี้ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ การชี้แนะแนวทางให้กับเด็กตรงๆ จะทำให้เด็กรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น ถ้าเด็กวาดรูปเล่นบนหนังสือ คุณพ่อคุณแม่รีบเอาหนังสือออกมาแล้วบอกกับเด็กๆ ว่าอันนี้วาดไม่ได้นะ จากนั้นก็ให้สมุดวาดเขียน หรือ กระดาษให้เด็กๆ วาดรูปแทนนั่นเอง

เมินเด็กๆ เพื่อให้หยุดทำบางอย่าง

เวลาที่เด็กๆ ร้องไห้โวยวายเพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ดั่งใจตัวเอง วิธีที่แก้ที่ดีที่สุดคือ การไม่สนใจ หรือ เมิน เด็กๆ เวลาที่ทำพฤติกรรมดังกล่าว เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าไปโอ๋เพราะเด็กร้องไห้เพราะอยากได้ของที่ไม่จำเป็น หรือดื้อในเรื่องที่ไม่มีเหตุผล การทำเป็นไม่สนใจ จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่า เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งที่ตัวเองเรียกร้องด้วยการร้องไห้ไม่ได้ขึ้นมา เด็กๆ ก็จะหยุดร้องไปเอง จากนั้นเราก็ค่อยเข้าไปอธิบายเหตุผลว่า ทำไมถึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ เป็นต้น

ให้เด็กเรียนรู้ถึงผลที่ได้รับโดยตรง

การเรียนรู้ที่ได้ผลที่สุดคือ ประสบการณ์ตรงที่ได้เจอกับตัวเอง สิ่งที่จะทำให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้กับการกระทำของตัวเองคือ การปล่อยให้เด็กไปเผชิญโดยตรง เช่น เด็กๆ ไม่ยอมกินข้าว คุณพ่อคุณแม่ต้องปล่อยให้เด็กรู้จักความหิว ซึ่งเด็กก็จะได้เรียนรู้ว่า เมื่อตัวเองทำตัวแบบนี้ก็จะหิวเมื่อไม่ได้กินข้าว เราก็ค่อยอธิบายให้ลูกเข้าใจอีกที แต่การทำอย่างนี้ก็ควรจะให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่รุนแรง เช่น ถ้าลูกปีนขึ้นไปที่สูง เราไม่ควรปล่อยให้เด็กๆ ร่วงตกลงมาจนเกินอันตรายได้

เป็นแบบอย่างให้เด็กๆ

นอกจากประสบการณ์ตรงที่เด็กๆ ได้เจอกับตัวเองแล้ว การเรียนรู้อีกอย่างที่เด็กๆ ชอบทำคือการเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ จากผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่หรือคนในบ้านแสดงพฤติกรรมดี เด็กๆ ก็จะเลียนแบบในทางที่ดี ถึงแม้ว่าเด็กจะยังไม่เข้าใจในแง่ของตรรกะ แต่เด็กจะค่อยๆ ซึมซับการกระทำดังกล่าวไปเอง

กลับกันถ้าเด็กๆ ได้เห็นตัวอย่างที่แย่ๆ จากผู้ใหญ่ เด็กก็จะเลียนแบบพฤติกรรมไป และเมื่อผู้ใหญ่ดุหรือห้ามเด็กไม่ให้ทำบางสิ่ง เด็กๆ อาจจะแสดงความดื้อออกมา เพราะเค้าจะคิดว่าทีผู้ใหญ่ยังทำได้ แต่ทำไมตัวเองทำไม่ได้ล่ะ ซึ่งจุดนี้ต้องระมัดระวัง และในทางที่ดีที่สุดคือ ทำสิ่งดีๆ ให้เด็กดู เป็นเรื่องที่ง่ายและดีที่สุดแล้วล่ะ

การชมเพื่อเสริมแรงทางบวก

การชมเชยเด็กผ่านทางคำพูดหรือการแสดงออกด้วยทางสีหน้า ท่าทางต่างๆ ก็เป็นอีกทางที่สามารถลดพฤติกรรมความดื้อความซนของเด็กได้มากขึ้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งการชมแต่ละครั้งของคุณพ่อคุณแม่ควรทำด้วยความจริงใจและเจาะจงกับพฤติกรรมของเด็ก เพราะเด็กจะได้รู้ว่าผู้ใหญ่ให้ความสนใจกับอะไร เด็กๆ ก็จะสามารถเรียนรู้และทำพฤติกรรมนั้นต่อไป และที่สำคัญอย่าพูดเสียดสีหรือเปรียบเทียบกับคนอื่นระหว่างที่ชมเด็กๆ ด้วย

การลงโทษในขอบเขตที่จำเป็น

การลงโทษเด็กนั่นโดยทั่วไปแล้วไม่ควรจะใช้เป็นวิธีแรกๆเพื่อรับมือเด็กดื้อหรือเด็กซนโดยเฉพาะการลงโทษแบบรุนแรงที่ทำกับเด็กๆแบบไม่มีเหตุผลบ่อยๆก็จะส่งผลต่อการพัฒนาการทางบุคลิกภาพและสภาพจิตใจของเด็กด้วย

เพราะฉะนั้นการลงโทษเด็ก ไม่จำเป็นต้องเป็นการดุด่าตำหนิติเตียนเสมอไป อาจจะใช้วิธีอื่นแทนก็ได้ เช่น การตัดสิทธิไม่ให้รางวัลเด็กๆ หรือการจำกัดบริเวณให้เด็กแยกออกไปจุดที่กำหนดแบบลำพัง (หรือเรียกอีกอย่างว่า Time Out) เพื่อให้เด็กๆ สงบสติอารมณ์ จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ค่อยอธิบายเหตุผลที่ทำโทษไป ซึ่งการใช้วิธีกักบริเวณเด็กๆ ชั่วคราวใช้ได้ผลกับเด็กอายุประมาณ 2-10 ปี และที่สำคัญไม่ควรขังเด็กในห้องน้ำหรือห้องมืดต่างๆ ด้วย

 

 

ที่มา : rakluke