พื้นฐานทางอารมณ์เป็นลักษณะนิสัยเฉพาะของเด็กแต่ละคน ที่มีต่อการเข้าหาบุคคลอื่นและตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งเด็กแต่ละคนมีลักษณะที่แตกต่างกันตั้งแต่เกิดซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 9 องค์ประกอบที่จะผสมกันออกมาทำให้เด็กแต่ละคนมีความเลี้ยงยากหรือง่ายต่างกัน เราไปรู้จักองค์ประกอบเหล่านั้นกันเถอะค่ะ
ระดับการเคลื่อนไหว (Activity Level)
คือ การเคลื่อนไหวของร่างกายในขณะที่เด็กกำลังทำกิจกรรมต่างๆ เช่น อาบน้ำ กินข้าว เล่น รวมไปถึงระยะเวลาการนอน ซึ่งจะมีทั้งเด็กที่แอกทีฟและเด็กที่อยู่นิ่ง
ความสม่ำเสมอ (Rhythmicity or Regularity)
เป็นการคาดเดากิจวัตรประจำวันของเด็ก ซึ่งมีทั้งเด็กที่ทำทุกอย่างแบบสม่ำเสมอ เช่น กิน นอน อึเป็นเวลา ปรับตัวเข้ากับตารางเวลาได้ง่าย และเด็กที่ไม่สม่ำเสมอ จะเลี้ยงยาก กินยาก ปรับตัวได้ยาก
การเข้าหาหรือถอยหนี (Approach or Withdrawal)
เป็นการตอบรับครั้งแรกเมื่อเด็กพบเจอคนแปลกหน้าหรือสิ่งของใหม่ๆ จะมีทั้งเด็กที่กระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น หัวเราะ ยิ้มและเล่นด้วยความสบายใจ ส่วนเด็กอีกแบบก็จะมีพฤติกรรมตรงกันข้าม คืองอแงและถอยหนี
ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)
เป็นตัวกำหนดว่าเด็กปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ง่ายแค่ไหน แสดงออกถึงความชอบและไม่ชอบใจเวลามีการปรับเปลี่ยนตารางเวลาหรือสภาพแวดล้อม
ความไวต่อสิ่งกระตุ้น (Threshold of Responsiveness)
เป็นความรุนแรงของการตอบรับสิ่งเร้าจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 เด็กที่ไวต่อการกระตุ้นมักจะออกอาการไม่พอใจหรือไม่ชอบเมื่อมีสิ่งมากระตุ้นมากเกินไป เช่น ไม่ชอบใส่ถุงเท้าที่มีขอบเพราะรู้สึกรำคาญหรือเมื่อได้ยินเสียงดังแล้วงอแง
ความรุนแรงของการตอบสนอง (Intensity of Reaction)
เป็นวิธีตอบสนองต่อสิ่งเร้าของเด็ก ถ้าเด็กที่มีการตอบรับต่อสิ่งเร้าแบบรุนแรงจะเสียงดัง มีพฤติกรรมโอเวอร์เกินจริงหรือดราม่า ส่วนเด็กที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งเร้าเท่าไหร่ก็จะเงียบๆ เรียบๆ ไม่ออกอาการมากนัก
คุณภาพอารมณ์ (Quality of Mood)
เป็นบุคลิกภาพทางอารมณ์มีทั้งที่เป็นบวกและเป็นลบ ซึ่งเป็นตัวกำหนดอารมณ์ ถ้าเป็นบวกเด็กก็จะอารมณ์ดี ยิ้มง่าย หัวเราะง่าย เข้ากับคนอื่นได้ง่าย ส่วนเด็กที่อารมณ์เป็นไปในทางลบจะร้องไห้ งอแงและเข้ากับคนยาก
ความไขว้เขว วอกแวก (Distractibility)
เป็นตัวกำหนดว่าเด็กวอกแวกง่ายแค่ไหนในขณะที่ทำกิจกรรมหรือทำงานอยู่ เมื่อเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันจะมีผลต่อสมาธิของเด็ก เด็กที่ไขว้เขวง่ายจะไม่อยู่นิ่ง นั่งทำงานได้ไม่นาน
สมาธิและความทนทาน (Attention Span and Persistence)
เป็นตัวกำหนดเวลาที่เด็กใช้ทำกิจกรรม เด็กที่มีสมาธิและอดทนจะไม่ยอมแพ้ ไม่เลิกจนกว่าจะทำสิ่งนั้นจนสำเร็จ ส่วนเด็กที่สมาธิน้อย ไม่อดทนก็จะล้มเลิกความตั้งใจได้ง่าย