Parents One

เด็กๆเตรียมรับมือ!! 8 วิธีคัดเลือกเด็กเข้าป.1 ในปี 2562

การสอบคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าโรงเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 กำลังเป็นปัญหาในระบบการศึกษาไทยตอนนี้อย่างมากเลยค่ะ เพราะมีหลากหลายแง่มุมที่เรามองเห็น และไม่เห็นเกี่ยวกับประโยชน์ของการจัดสอบ เพื่อคัดเด็กมาเรียนในระดับที่ยังเล็กอยู่ ซึ่งเป็นการทำให้เด็กและผู้ปกครองเกิดความเครียดสะสมจากการที่ให้ลูกต้องไปเรียนพิเศษ เสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตทั้งเด็กและผู้ปกครอง แถมยังบั่นทอนเวลาต่างๆ ในชีวิตของวัยเด็กอีกด้วย วันนี้เราจึงนำข้อมูลของสวนดุสิตโพลซึ่งเป็นโพลที่ถามความคิดเห็นในเรื่องของการสอบเข้า ป. 1 ของเด็ก ไปถามกับผู้ปกครองและคุณครู ถึงวิธีการที่จะเข้า ป .1 โดยไม่ใช้การสอบเข้า ไปดูกันเลยว่าจะมีวิธีไหนบ้าง และจะดีกว่าวิธีสอบแบบเดิมรึเปล่านะ?

 

จะดีแค่ไหนถ้าเด็กป .1 ไม่ต้องสอบเพื่อเข้าโรงเรียน ? ลองไปดู 8 วิธีคัดเลือกเด็กเข้าป.1 ในปี 2562 กันเลยค่ะ

 

1. ประเมินพัฒนาการ และสมรรถนะของเด็กตามวัย

โรงเรียนอาจจะมีแบบฝึกหัดเพื่อประเมินความสามารถ และพัฒนาการของเด็กตามวัย มาทำการทดสอบตัวเด็กโดยตรง เพื่อวัดประสิทธิภาพว่าเด็กคนไหนเหมาะสมที่จะเข้าไปเรียนในโรงเรียนนั้นๆ ค่ะ

2. รับเด็กในพื้นที่ หรือใกล้บ้าน

การใช้วิธีนี้ในการคัดเลือกเด็กมาเรียน จะช่วยแก้ปัญหาการเดินทางมาโรงเรียนของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี ช่วยให้เด็กไม่ต้องตื่นเช้ามากเกินไป หรือเหนื่อยในการเดินทาง เป็นการประหยัดเวลาอย่างหนึ่ง ให้ลูกได้ใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างเต็มที่ ได้เล่นไปพร้อมๆ กับเรียน เพื่อสร้างสมดุลในชีวิตวัยเด็กค่ะ

แต่ถ้าใช้ใช้ระบบนี้จริงๆ อาจจะเกิดปัญหาที่ตามมาอย่างแน่นอน เช่น พ่อแม่ยอมย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนที่อยากให้ลูกเข้า เพื่อให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดีๆ ค่ะ

3. จับสลาก เสี่ยงดวง

วิธีนี้ไม่ได้คัดที่ตัวเด็ก แต่เป็นการคัดเรื่องโชค หรือดวงเด็กมากกว่า หากใช้วิธีนี้จริง พ่อแม่จะต้องพาลูกๆไปไหว้พระวัดดังทั้งหลายอีกแน่นอนค่ะ เพราะชีวิตอีก 6 ปีของลูก จะถูกแขวนไว้บนโชคชะตาที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งผลกระทบของวิธีนี้ คือโรงเรียนจะไม่สามารถคัดคุณภาพและพัฒนาการของเด็กได้เช่นกัน

4. ยื่น Portfolio

การคัดเด็กเข้า แล้วดูที่ผลงานจริงๆ ของเด็ก มีทั้งข้อดีและข้อเสียค่ะ ข้อดี คือ ได้เห็นกิจกรรมที่หลากหลายที่ลูกได้ทำในช่วงที่เรียนอยู่อนุบาล แต่ก็จะมีข้อเสีย คือ พ่อแม่จะพยายามยัดเยียดให้ลูกไปทำในกิจกรรมต่างๆ มากเกินไปเพื่อเก็บเป็น Portfoilo ทำให้เด็กๆ ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ซึ่งลูกอาจจะไม่ได้ชอบกิจกรรมทั้งหมด แถมยังเสียเวลาวิ่งเล่นเสริมพัฒนาการของเด็กอีกต่างหากค่ะ

5. สัมภาษณ์เด็กโดยตรง

วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ตั้งแต่ที่กล่าวมาทั้งหมด เพราะ คุณครูจะสามารถเห็นถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในตัวเด็กได้ เช่น การพูดคุยจะเป็นการเปิดกว้าง ได้เห็นทั้งไหวพริบของ EQ , EF ของเด็ก ว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร มีการควบคุมอารมณ์ หรือสุขภาพจิตเป็นอย่างไรค่ะ

6. ทำแบบทดสอบ

การมีแบบทดสอบ อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีกว่าการจัดสอบ เพราะการทำแบบทดสอบอาจเป็นการวัดว่าเด็กรู้เรื่องแค่ไหน แต่ไม่ใช่เด็กต้องเครียดจัดในการเตรียมตัวเพื่อที่จะมาทำแบบทดสอบนี้ค่ะ ไม่งั้นก็จะไม่ต่างอะไรจากการจัดสอบเลยค่ะ

7. สัมภาษณ์พ่อแม่ ผู้ปกครองแทน

บางครั้งโรงเรียนอยากรู้ว่า ทำไมผู้ปกครองถึงอยากให้ลูกมาเรียนโรงเรียนนี้ ก็ต้องมีการถามทัศนคติในการเลือกโรงเรียนจากผู้ปกครอง เพื่อให้สามารถมองรวมๆได้ว่า มีเหตุผล และความเหมาะสมหรือไม่ ที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนนั้นๆ

8. ใช้หลายวิธีประกอบกัน

วิธีนี้เป็นการวัด รวมทั้งดูภาพรวมในเรื่องต่างๆ ทั้งความเหมาะสม และพัฒนาการของเด็กว่าเป็นอย่างไรบ้างค่ะ อาจจะช่วยในการตัดสินใจให้เด็กบางคนได้เรียนในโรงเรียนที่ไม่คาดว่าจะสอบติดเลยก็เป็นได้ค่ะ

ส่วนบางโรงเรียนในไทย เช่น โรงเรียนสาธิตละอองอุทิศ จะไม่จัดสอบเด็กป.1 ในปี 2562 แต่จะใช้วิธีคัดกรองเด็ก โดยการสัมภาษณ์เด็กเป็นรายบุคคลแทน พร้อมทั้งดู Portfolio และสัมภาษณ์ผู้ปกครองว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ทำไมถึงอยากให้ลูกเข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้ จึงเป็นการเลือกวิธีที่ 8 คือ ใช้หลายๆ วิธีประกอบกัน

มีวิธีการอื่นๆ ที่หลากหลายในการคัดเลือกเด็กเข้ามาเรียนในโรงเรียนในระดับชั้น ป.1 แต่วิธีการดังกล่าวทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ยังไม่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงฯศึกษาธิการ เป็นเพียงผลวิจัยของสวนดุสิตโพลเท่านั้น ถ้าไม่อยากให้ประเทศไทย เด็กต้องมาเครียดในการเลือกโรงเรียนเพื่อศึกษาต่อในระดับชั้นต่างๆ จะต้องมีการปรับระบบการศึกษาให้ทุกโรงเรียนมีความเท่าเทียมกันในเรื่องของหลักสูตรและตัวครูผู้สอนค่ะ เพราะเด็กจะเก่งได้หากได้เรียนกับครูดีๆ ไม่ใช่โรงเรียนที่ชื่อเสียงค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง : Nation