Parents One

8 ยาสามัญประจำบ้านสำหรับเด็กที่ทุกบ้านควรมี

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ ควรมียาพื้นฐานติดบ้านไว้สำหรับเวลาที่ลูกรักเจ็บป่วยไม่สบาย เพื่อรักษาอาการเบื้องต้นของลูกก่อนที่จะต้องไปพบแพทย์ ซึ่งการให้ยากับลูกเองมีข้อควรระมัดระวัง เช่น เรื่องการแพ้ยา คุณพ่อคุณแม่ต้องทราบว่าลูกเราแพ้ยาตัวไหนบ้าง หรือตัวคุณพ่อคุณแม่เองมีประวัติแพ้ยาตัวใด ก็ต้องระมัดระวังการให้ยากลุ่มนั้นกับลูกน้อยเป็นพิเศษนะคะ

เพราะอาจทำให้ลูกมีโอกาสแพ้ได้เหมือนกับพ่อแม่ หรือการเป็นโรคประจำตัวบางโรค ที่ต้องหลีกเลี่ยงยาบางกลุ่มที่จะกระตุ้นให้แสดงอาการของโรค ก็ควรระมัดระวังเช่นเดียวกันค่ะ ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยาให้เด็ก ไม่ควรใช้ช้อนทานข้าว หรือช้อนชงกาแฟ เพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้อง โดยขนาดมาตรฐานในการตวงยาคือ 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร และ 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 15 มิลลิลิตร อาจใช้ช้อนชาที่ให้มากับขวดยาหรือใช้กระบอกฉีดยาป้อนก็ได้ค่ะ

ยาสามัญประจำบ้านสำหรับเด็กที่ควรมีติดบ้านไว้มีดังนี้

1. ยาลดไข้

สำหรับเด็กเล็กๆ ที่มักเป็นไข้ ควรมียาน้ำลดไข้สำหรับเด็กติดบ้านไว้ค่ะ เพื่อลดอาการตัวร้อนและทำให้ไข้ลดลง นอกจากนี้ คุณแม่ควรดูฉลากการใช้ยาประกอบด้วยทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าให้ปริมาณยาที่ให้ลูกนั้น เหมาะกับวัยและน้ำหนักตัวของลูกรักค่ะ

2. ยาแก้ปวดท้อง

เด็กที่มีลมในกระเพาะอาหารเยอะจะรู้สึกอึดอัดท้อง เนื่องจากท้องของลูกยังทำงานไม่ดีนัก หรือเกิดจากการกินนมหรือการกินอาหารที่ไม่ถูกวิธี ยาแก้ปวดท้องจึงควรมีไว้ค่ะ ยาแก้ปวดท้องมีดังนี้ ยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดง และยาขับลม เป็นต้น

3. เกลือแร่

สำหรับเด็กที่มีอาการท้องเสียซึ่งเกิดจากการกินอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด ควรมีเกลือแร่ติดบ้านไว้นะคะ เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำของลูก แม้ว่ายาตัวนี้จะไม่ได้ทำให้หยุดถ่าย แต่ช่วยเพิ่มพลังงานและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปจากการขับถ่ายค่ะ

4. ยาแก้ท้องผูก

เมื่อลูกมีอาการท้องผูก ยาแก้ท้องผูกจะทำให้ลูกขับถ่ายดีขึ้น แต่การจะใช้ยาแก้ท้องผูกของลูก ควรปรึกษากับคุณหมอก่อนว่าอายุของลูกควรใช้ยาตัวไหน และการใช้ยาตัวนี้ไม่ควรใช้มากหรือบ่อยจนเกินไปเพราะจะทำให้ระบบลำไส้ของลูกทำงานผิดปกติ ทางแก้ที่ดีที่สุดควรเน้นให้ลูกทานผักและผลไม้เยอะๆ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอจะดีกว่าค่ะ

5. ยาแก้คันแก้แพ้

เมื่อลูกมีอาการคันตามที่ต่างๆ อาจจะเกิดจากอากาศ หรือแมลงกัดต่อย จึงควรมียาตัวนี้ไว้ช่วยบรรเทาอาการ ยาแก้คันส่วนมากจะเป็นคาราไมน์ ซึ่งเป็นยาที่ช่วยลดอาการคันได้อย่างดีค่ะ

6. เจลประคบร้อน-เย็น

บ้านที่มีลูกวัยกำลังซนควรจะมีติดไว้เลยค่ะ เพราะลูกอยู่ในวัยซุกซนต้องมีแผลฟกช้ำดำเขียวแน่นอน คุณแม่ควรหาซื้อพวกถุงประคบเย็นไว้ติดบ้าน เพราะถุงประคบเย็นจะช่วยลดอาการบวมแดง ทำให้อาการของแผลฟกช้ำไม่กระจายบวมใหญ่เป็นวงกว้าง

7. ยาม่วง

ยานี้จะช่วยบรรเทาอาการเป็นฝ้า หรือ เชื้อราในปากเด็ก ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย ทาที่แผลเพียง 2-3 วันอาการจะดีขึ้นหรือมีแบบเป็นเจลไว้ใช้แก้พวกอาการร้อนใน ในปากได้ค่ะ ใช้หลังจากทำความสะอาดช่องปากเรียบร้อยแล้วหรือใช้ก่อนเข้านอน

8. กลุ่มยารักษาแผลสด

ที่ควรมีคือ แอลกอฮอล์ล้างแผล เบตาดีน และอุปกรณ์ทำแผลสด เช่น สำลีก้อน สำลีก้าน ผ้าพันแผล พลาสเตอร์ เป็นต้น

ที่มา – เภสัชกร โสมาภา ธรรมเจริญ